เมื่อวันที่ 6 มี.ค. นายพิธา​ ลิ้มเจริญรัตน์​ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ ระดับการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนในประเทศไทยถือว่าสูงกว่าจุดสูงสุดของการระบาดในรอบเดลตาแล้ว และยอดผู้ป่วยโควิดสะสมในประเทศไทยก็แตะ 3 ล้านคนไปในวันที่ 5 มี.ค.ที่ผ่านมา ในโอกาสนี้ตนจึงขอให้บริบทกับสถานการณ์ที่เราเผชิญอยู่ และฉากทัศน์ของการระบาดต่อไปข้างหน้า รวมถึงข้อเสนอของผมที่มีต่อรัฐบาล

นายพิธา ระบุต่อว่า สำหรับบริบทของสถานการณ์ในตอนนี้ จำนวนเคสการระบาดต่อวันสูงกว่าระลอกเดลตาแล้วก็จริง แต่ระดับความเลวร้ายของสถานการณ์จริง ๆ มองที่ระดับความตึงเครียดต่อระบบสาธารณสุข ในที่นี้คือจำนวนผู้ป่วยหนัก ในระลอกเดลตา วันที่มีผู้ป่วยหนักกำลังรักษามากที่สุดคือ 16 ส.ค. 2564 ที่มีผู้ป่วยหนัก 5,626 ราย มีผู้ใส่ท่อช่วยหายใจ 1,161 ราย เทียบกับในระลอกปัจจุบันที่ถึงแม้จะมีผู้ป่วยมากกว่า แต่มีผู้ป่วยหนัก 1,145 ราย ผู้ใส่ท่อช่วยหายใจ 366 ราย ถือว่าสถานการณ์ยังรุนแรงน้อยกว่าจุดสูงสุดของการระบาดช่วงเดลตาอยู่พอสมควร ถัดมาคือบริบทของฉากทัศน์ที่รัฐบาลนำเสนอ สำหรับฉากทัศน์ตามแนวโน้มในปัจจุบัน จำนวนเคสยืนยันเพิ่มขึ้นต่อวันจะขึ้นไปสูงสุดที่ 40,000-50,000 เคส ในช่วงกลางเดือน เม.ย. สถานการณ์จำนวนผู้ป่วยหนักจะวิกฤติที่สุดประมาณ 2,000 คน ที่ทำการรักษาอยู่ในช่วงต้นเดือน พ.ค. ซึ่งถือว่าความตึงเครียดต่อระบบสาธารณสุขยังน้อยกว่าระลอกเดลตาประมาณครึ่งหนึ่ง

นายพิธา ระบุอีกว่า  ส่วนในฉากทัศน์ที่เป็น Worst Case จำนวนเคสยืนยันเพิ่มขึ้นต่อวันจะขึ้นไปสูงที่สุดเพิ่มขึ้น 100,000 เคส ในขณะที่จำนวนผู้ป่วยหนักที่อยู่ระหว่างการรักษาจากชาร์ตที่ ศบค. นำเสนอจะขึ้นไปสูงขึ้น 6,000 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 1,600 ราย ซึ่งสูงกว่าจุดสูงสุดของเดลตาที่มีผู้ป่วยหนัก 5,626 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 1,115 ราย เพราะฉะนั้นก็มีความเป็นไปได้ที่การระบาดจะสร้างความตึงเครียดต่อระบบสาธารณสุขมากกว่าระลอกเดลตาที่คนไทยล้มตายเหมือนใบไม้ร่วง ในขณะนั้น งบประมาณเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุขที่อนุมัติไปตั้งแต่ปลายปี 2563 เบิกจ่ายออกมาใช้รับมือโควิดช่วงที่รุนแรงที่สุดหรือมีผู้ป่วยหนักมากที่สุดได้เพียงแค่ 15% เท่านั้นเอง ในวันที่ 16 ส.ค. 2564 หรือแปดเดือนหลังจากที่อนุมัติงบประมาณไปแล้ว จนแม้แต่โรงพยาบาลของกรมการแพทย์เองกลับต้องออกมาขอรับบริจาคเครื่องช่วยหายใจ

นายพิธา ระบุว่า สำหรับการเตรียมรับมือการระบาดในระลอกนี้ เมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา ครม. ได้อนุมัติงบประมาณเพื่อเตรียมซื้ออุปกรณ์การแพทย์รองรับผู้ป่วยโควิด เหลือง-แดง มูลค่า 5,731 ล้านบาท การอนุมัติในครั้งนี้ถือว่าเสียเวลาไป 2 เดือนหลังจากที่มติ ครม. ให้ทบทวนโครงการซื้ออุปกรณ์การแพทย์ 13,675 ล้านบาท เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 64 ให้การจัดซื้อตรงจุดกับผู้ป่วยอาการรุนแรงมากขึ้น นอกจากนี้ ตามมติ ครม. 15 ก.พ. ยังได้ให้หน่วยงานจัดทำรายงานยืนยันว่าสามารถก่อหนี้ผูกพันได้ในกรอบเวลาของ พ.ร.ก.เงินกู้ 2564 (หรือ ก.ย. 2565) และขอให้หน่วยงาน “ปฏิบัติตามมาตรฐานของทางราชการให้ถูกต้องครบถ้วนในทุกขั้นตอน” ซึ่งทำให้เป็นไปได้อย่างมากว่าโครงการที่อนุมัติไปในเดือน ก.พ. จะไม่สามารถจัดซื้อได้ทันสำหรับช่วงที่ฉากทัศน์การระบาดของรัฐบาลเองจะรุนแรงมากที่สุดในช่วงต้นเดือน พ.ค.

นายพิธา ระบุว่า การแก้ไขโครงการดังกล่าวอาจเป็นเรื่องที่เหมาะสม แต่เวลาก็ล่วงเลยมาพอสมควร และสิ่งที่ตนจะขอเรียกร้องต่อรัฐบาลในครั้งนี้คือ ความรวดเร็วของการบริหาร การจัดซื้อจัดจ้าง และการเบิกจ่าย อย่าให้ต้องมีใครเสียชีวิตจากความล่าช้าเพราะกฎระเบียบหยุมหยิมของราชการอีกเลย จะมีประโยชน์อะไรที่แก้ไขโครงการให้ตรงจุดมากขึ้น แต่เครื่องช่วยหายใจที่ซื้อได้มาทีหลังจากการระบาดสิ้นสุดไปแล้ว อย่าทำความผิดพลาดซ้ำรอยเหมือนระลอกเดลตาอีกเลย

“ถึงบุคลากรด่านหน้าทุกท่าน ผมขอขอบคุณที่ทุกท่านต่อสู้มาเป็นเวลากว่า 2 ปี ผมเข้าใจว่าทุกท่านเหนื่อยมามากแล้ว รัฐบาลต้องเตรียมพร้อมเพื่อให้มีกำลังคนเพียงพอและมีขวัญกำลังใจที่เพียงพอ ในตอนนี้ ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะมีโครงการเพิ่มบุคลากรการแพทย์เพื่อรองรับโควิดระลอกใหม่ 2,402 ตำแหน่ง ใช้งบกลาง 1,080 ล้านบาท แต่ก็เป็นโครงการที่ถูกปรับแก้ในช่วงปลายปีที่ผ่านมาจากเดิมที่ สธ. ขอเพิ่ม 5,000 ตำแหน่ง ใช้งบ 4,300 ล้านบาท ผมตระหนักดีว่าการปรับลดโครงการในเวลานั้นเป็นเพราะสถานการณ์ที่คลี่คลายลงในช่วงปลายปี แต่ในเวลานี้ที่แม้แต่ฉากทัศน์ของรัฐบาลเอง การระบาดในระลอกนี้อาจร้ายแรงไม่แพ้การระบาดในระลอกเดลตา ดังนั้น รัฐบาลควรรีบทบทวนสถานการณ์และเตรียมพร้อมเพิ่มบุคลากรทางการแพทย์ให้เพียงพอกับสถานการณ์ใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป”​ นายพิธา ระบุ.