นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า คณะกรรมการขับเคลื่อน 5จี แห่งชาติ ได้เห็นชอบใน  2 โครงการนำร่อง เพื่อนำเทคโนโลยี 5จี ไปใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยโครงการแรก คือ การนำร่องการให้บริการประชาชนด้วยเทคโนโลยี 5จี (5G District) ที่ จ.เชียงใหม่ เป็นการยกระดับบริการต่าง ๆ ของรัฐโดยใช้ 5จี ร่วมกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ แบ่งเป็น 2 ด้าน คือ ด้านการเดินทาง (5G Mobility) พัฒนาแพลตฟอร์มการให้บริการ ข้อมูลการเดินทางสาธารณะ ทุกรูปแบบ ผ่านแอพพลิเคชั่นเดียว อาทิ รถเมล์ รถแดง รถแท็กซี่ รถตู้รับจ้าง และ แสดงแผนที่นำทาง ให้ข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ พร้อมประมาณการเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง รวมถึงแสดงข้อมูลสถานที่สำคัญ จุดให้บริการความช่วยเหลือ และบริการนักท่องเที่ยว ฯลฯ

นอกจากนี้ แพลตฟอร์มดังกล่าวยังทำงานร่วมกับ  Smart Traffic ได้แก่ สัญญาณไฟจราจร กล้องวงจรปิดที่มีระบบวิเคราะห์ใบหน้า นับจำนวนคนที่ข้ามถนน เก็บข้อมูลป้ายทะเบียนรถ และจำนวนรถยนต์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับคำนวณเวลาในการเปิด-ปิดสัญญาณไฟจราจร ช่วยแก้ไขปัญหาทางการจราจร ลดอุบัติเหตุและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว

ส่วนด้านสุขภาพ (5G Healthcare) จัดตั้ง 5จี ฮอสพิทัล ที่ให้บริการด้านการแพทย์ผ่านเทคโนโลยี 5จี ด้วยการยกระดับ เทเลเมดิซีนในพื้นที่ห่างไกลให้รองรับเทคโนโลยี 5จี เพื่อช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ ทำการวินิจฉัยอาการทางไกลได้โดยการเชื่อมต่อโรงพยาบาลหลักและโรงพยาบาลในพื้นที่ห่างไกลด้วย 5จี ฯลฯ

นายชัยวุฒิ กล่าวต่อว่า ส่วน โครงการนำร่องที่ 2  คือ 5G Use Case ระบบการคัดกรองและแจ้งเตือน สำหรับ ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดการท่องเที่ยวใน จ.ภูเก็ต โดยนำเทคโนโลยี 5จี ประยุกต์ใช้ ตั้งแต่การลงทะเบียนข้อมูลนักท่องเที่ยวเพื่อเป็นฐานข้อมูล และจัดตั้ง 5G Smart Gate พร้อมกล้องที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง ที่สามารถวิเคราะห์ใบหน้าของนักท่องเที่ยว เพื่อนำข้อมูลขนาดใหญ่ (บิ๊กดาต้า) มาวิเคราะห์บุคคลในการคัดกรอง และเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบแพลตฟอร์มกลาง แจ้งเตือนด้วยข้อมูลเรียลไทม์ให้กับเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องใช้ในการ ควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น.