‘อีลอน มัสก์’ ปิดดีลการขอเสนอซื้อหุ้นของบริษัททวิตเตอร์ได้สำเร็จในราคา 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 1.5 ล้านล้านบาทเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เท่ากับอำนาจในการบริหารบริษัทโซเชียลมีเดียแห่งนี้ได้ย้ายเข้ามาอยู่ในมือของหนึ่งในมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลก

มัสก์ ซึ่งบอกว่าตนเองเป็นผู้ที่นิยมเสรีภาพในการพูดอย่างสมบูรณ์ ได้วิพากษ์วิจารณ์บริษัทเจ้าของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอายุ 16 ปีแห่งนี้มาโดยตลอด เกี่ยวกับการกลั่นกรองและปิดกั้นคอนเทนต์ในบางหัวข้อบนแพลตฟอร์ม เขาต้องการให้ทวิตเตอร์ใช้ระบบอัลกอริทึมเพื่อจัดลำดับความสำคัญเสียใหม่ โดยให้ทวิตเตอร์เป็นแพลตฟอร์มเพื่อการใช้งานอย่างเสรีของสาธารณชนมากกว่าจะคอยรับใช้บริษัทต่าง ๆ ที่ซื้อโฆษณาบนแพลตฟอร์ม

นักเคลื่อนไหวทางการเมืองคาดว่า เมื่อ มัสก์ เข้ามากุมอำนาจบริหาร ก็จะมีการปิดกั้นคอนเทนต์ต่าง ๆ และผู้ใช้งานน้อยลงหรือยกเลิกการแบนผู้ใช้งานในอดีต เช่น อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ ฝ่ายอนุรักษนิยมสนับสนุนให้มีมาตรการควบคุมที่เข้มงวดน้อยลง ขณะที่ฝ่ายนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนกลับเป็นกังวลว่าจะมีแนวโน้มการเผยแพร่คำพูดเพื่อสร้างความเกลียดชัง (Hate speech) เพิ่มขึ้น

มัสก์ ยังเคยแนะให้ ทวิตเตอร์เปิดฟังก์ชันการใช้งานที่ง่ายขึ้นสำหรับผู้ใช้ เช่น มีปุ่มแก้ไขข้อความและกำจัด ‘ข้อความขยะ’ จากบัญชีรับจ้าง ซึ่งจะโพสต์ข้อความที่ไม่มีประโยชน์เป็นจำนวนมากสู่แพลตฟอร์ม

ภายใต้ความกดดันตลอดระยะเวลาหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ทวิตเตอร์อิงค์ต้องยอมเปิดการเจรจากับ มัสก์ ซึ่งยื่นข้อเสนอขอซื้อหุ้นในราคาหุ้นละ 54.20 ดอลลาร์สหรัฐ (1,848 บาท) และบรรลุข้อตกลงได้ในที่สุด 

มัสก์ กล่าวในแถลงการณ์ว่า เสรีภาพในการพูดคือพื้นฐานที่แข็งแกร่งของประชาธิปไตยที่แท้จริง ทวิตเตอร์คือชุมชนดิจิทัลที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการพูดคุยเรื่องอนาคตของมนุษยชาติ

ขณะเดียวกัน แจ๊ค ดอร์ซีย์ อดีตซีอีโอของทวิตเตอร์ ก็โพสต์ข้อความบนทวิตเตอร์ของเขาซึ่งสื่อถึงการเข้าข้างการกระทำของ มัสก์ ตั้งแต่เมื่อวาน โดยเขาได้กล่าวขอบคุณทั้ง มัสก์ และ ปารัก อักราวัล ซีอีโอคนปัจจุบันของทวิตเตอร์ ที่ช่วยหาทางออกให้สถานการณ์ที่ยากลำบากของบริษัท 

เขายังกล่าวอีกว่า ทวิตเตอร์เป็นปัญหาเพียงหนึ่งเดียวและความเสียใจครั้งใหญ่ที่สุดที่ยังติดอยู่ในใจของเขา ที่บริษัทที่เขาเคยร่วมก่อตั้งกลายเป็นสมบัติของตลาดหุ้นและเครื่องมือเพื่อการโฆษณา ซึ่งการนำทวิตเตอร์ออกจากตลาดหุ้นคือก้าวแรกที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาในทางที่ถูก

การเคลื่อนไหวของ มัสก์ ไม่ใช่เรื่องใหม่ มหาเศรษฐีหลายคนนิยมครอบครองสื่อมวลชนหรือแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอยู่ในมือ เช่น การที่ ‘เจฟฟ์ เบโซส’ เจ้าของแอมะซอนอิงค์ เข้าซื้อบริษัทสื่อเจ้าดังอย่าง ‘วอชิงตัน โพสต์’

อย่างไรก็ตาม บรรดาผู้เชี่ยวชาญในการลงทุนก็ยังมีความกังวลและคอยจับตาดูว่า ทิศทางในการบริหารงานของ ทวิตเตอร์ ภายใต้การบัญชาการของ มัสก์ จะเป็นอย่างไรต่อไป ซึ่งยังต้องใช้เวลาอีกมาก รวมถึงนักลงทุนผู้ถือหุ้นของ ‘เทสลา’ อาจไม่พอใจที่ มัสก์ ต้องแบ่งเวลาไปดูแลกิจการใหม่ของเขา

การเปลี่ยนมือผู้เป็นเจ้าของทวิตเตอร์อิงค์ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริหารบริษัทชุดปัจจุบันเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงการลงคะแนนเสียงของผู้ถือหุ้น ซึ่งคาดว่าไม่น่าจะมีจำนวนผู้คัดค้านที่เป็นผล

ส่วน โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีของสหรัฐซึ่งโดนทวิตเตอร์ระงับการใช้งานบัญชีของเขา จนกระทั่งเขาตัดสินใจสร้างแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียวของตัวเองขึ้นมาโดยให้ชื่อว่า ‘ทรูธ โซเชียล’ (Truth Social) ได้กล่าวว่า เขาไม่มีความสนใจที่จะกลับไปใช้ทวิตเตอร์อีกต่อไป แม้ว่าบริษัทอาจจะคืนสิทธิการใช้งานบัญชีของเขาหลังจากนี้

เครดิตภาพ : Reuters