“ทีมการเมืองเดลินิวส์” จึงมาสนทนากับ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า เพื่อวิเคราะห์เกมการเมืองหลังจากนี้จะเดินไปอย่างไร การที่รัฐบาลมีแนวคิดจะกลับไปใช้สูตรหาร 100 ยังสามารถทำได้หรือไม่ และทำได้ด้วยวิธีใด

“ดร.สติธร” เปิดฉากกล่าวว่า สามารถทำได้แต่ผลลัพธ์ไม่สามารถควบคุมได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากสูตรหาร 500 ผ่านการลงมติโดยที่ประชุมรัฐสภาไปแล้ว แต่มาตราอื่นๆ ที่เหลืออยู่ ก็ต้องพิจารณาให้จบ เสร็จแล้วก็จะเข้าสู่ขั้นตอนถามความเห็นของศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอสิระที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็คือสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องไปลุ้นว่า 3 องค์กรนี้มองว่าสูตรหาร 500 เป็นอย่างไร ศาลฎีกาจะมองอย่างไร ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะมองว่าขัดเจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือ กกต.เป็นคนทักท้วงว่าตอนที่ยกร่างกฎหมายดังกล่าว เจตนารมณ์ของ กกต.ต้องการที่จะหาร 100 หรืออาจจะบอกว่าจะหาร 500 ก็ได้ แต่จะทำให้มีปัญหาที่ทำให้ กกต.ไม่สามารถทำหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งได้ หากศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ และ กกต. มีการทักท้วงหรือมองต่างจากที่รัฐสภาลงมติไป รัฐสภาก็ต้องนำกลับมาพิจารณากันใหม่ว่าตกลงจะฟังข้อแย้งหรือไม่ เพราะเป็นเอกสิทธิ์ที่สามารถยืนยันตามมติเดิมได้ หรือหากรัฐสภาเห็นด้วยกับข้อแย้งก็อาจจะกลับไปสู่สูตรหาร 100 ทั้งนี้เป็นแค่เส้นทางแต่ไม่ได้เบ็ดเสร็จว่าจะออกมาอย่างไร เพราะต้องไปลุ้นว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมองอย่างไร กกต.จะมองอย่างไร

นอกจากนั้นยังมีอีกช่องทางคือ การยื่นคำร้องต่อ ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ตีความว่าการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบหาร 500 ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งจะเป็นอีกส่วนหนึ่ง แต่วันนี้ยังไม่ถึงขั้นว่า จะต้องยื่นให้ตีความอะไร เพราะโดยปกติเมื่อกฎหมายผ่านสภา ยังไม่สามารถประกาศใช้ได้ทันที ต้องไปรับฟังความคิดเห็นศาลฎีกา ศาลรัฐธรรมนูญ และ กกต. ก่อนจะเอาความเห็นที่ได้มาทบทวนและพิจารณา เพื่อยืนยันมติ

@ บริบทการเมืองเวลานี้รัฐบาลต้องการสูตรหาร 100 หรือ สูตรหาร 500 สูตรไหนที่ทำให้ได้ประโยชน์สูงสุด

วันนี้รัฐบาลอยากได้บัตรใบเดียวเหมือนเดิม เพราะเรื่องการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อสูตรหาร 100 หรือ สูตรหาร 500 จากการเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ รัฐบาลคำนวณแล้ว การแข่งขันในการเลือกตั้งดีดลูกคิดแล้วยังไงก็แพ้ โอกาสสกัดแลนด์สไลด์จะทำได้น้อย ดังนั้นใจจริงๆ ลึกๆ ของรัฐบาลวันนี้คงอยากกลับไปที่บัตรเลือกตั้งใบเดียวแบบเดิม เหมือนที่เคยใช้ในการเลือกตั้งปี 2562 เพราะหากจะต้องการสกัดแลนด์สไลด์สูตรบัตรเลือกตั้งใบเดียว จะทำได้ดีกว่าสูตรบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เพราะระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ไม่ว่าจะคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบหาร 100 หรือหาร 500 จะเข้าทางพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ที่มีฐานเสียงมาก และฐานเสียงแน่นหนาในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต

@ แนวทางที่จะกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวยังสามารถเกิดขึ้นได้หรือไม่

ต้องให้กระบวนการแก้ไขกฎหมายลูกเดินไปตามปกติ เพราะจะไม่เกี่ยวข้องกันแล้ว ซึ่งในส่วนนั้นจะต้องมีคนลุกขึ้นมาเสนอให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญใหม่กันอีกรอบหนึ่ง เพื่อแก้ให้กลับมาใช้เป็นแบบบัตรเลือกตั้งใบเดียว ซึ่ง ส.ส.และ ส.ว.สามารถเข้าชื่อแก้ไขได้ และประชาชนก็สามารถเข้าชื่อแก้ไขได้

“คนที่เขาคิดอยากจะพลิกเกมกติกา คงจะทำทั้ง 2 แบบ คือ ปล่อยให้กระบวนการกฎหมายลูกเดินไป ซึ่งวันนี้อาจจะมองว่า สูตรหาร 100 ดูดี ส่งผลกระทบในทางลบของพรรคตัวเองน้อยกว่า สูตรหาร 500 ก็อาจจะพยายามเดินหน้าการแก้ไขกฎหมายลูกไป และหาทางที่จะทำให้กลับไปสู่สูตรหาร 100 ในกรณีที่การแก้รัฐธรรมนูญอาจจะทำได้ยากกว่า หรือทำไม่ทัน ก็คงพยายามดันกฎหมายลูกให้ทำอย่างไรก็ได้พลิกกลับมาเป็นสูตรหาร 100 และอีกทางหนึ่งคือ ต้องลองเสนอและผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญให้กลับมาเป็นบัตรเลือกตั้งใบเดียว คู่ขนาดกันไป ซึ่งก็จะรอดูว่าอันไหนจะสำเร็จ หรือหากสำเร็จทั้งคู่ก็แฮปปี้ เพราะต่อให้กฎหมายลูกไม่ว่าจะหาร 100 หรือหาร 500 ที่แก้ไป หากแก้รัฐธรรมนูญไปเป็นบัตรเลือกตั้งใบเดียว กฎหมายลูกที่แก้ไขก็ใช้ไม่ได้”

แต่ก็มีทริกทางการเมืองคือถ้าดันกฎหมายลูกไปต้องไม่ให้ไปสุด หมายความว่าหากแก้รัฐธรรมนูญอีกรอบกลับไปเป็นบัตรใบเดียวและแก้กฎหมายลูกจนสมบูรณ์แล้ว ก็ต้องกลับมาแก้กฎหมายลูกใหม่อีกรอบหนึ่ง ซึ่งจะทำให้ช้า ดังนั้นเขาคงจะคิดว่าดันกฎหมายลูกไปก่อนแต่ดันแบบไม่ต้องเร็ว ชะลอได้เมื่อไหร่ต้องชะลอ ส่วนรัฐธรรมนูญก็ต้องไปดันแก้ให้เร็ว เพราะหากรัฐธรรมนูญแก้สำเร็จก่อน กฎหมายลูกที่กำลังแก้กันอยู่ก็จะขัดกับรัฐธรรมนูญแน่นอน และจะต้องทำให้ตกไป ส่วนกฎหมายลูกภายใต้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นบัตรเลือกตั้งใบเดียว ไม่ต้องไปทำอะไรกับกฎหมายลูกเลย เพราะหากเขียนกติกาให้กลับไปเป็นเหมือนเดิม กฎหมายลูกก็สามารถใช้อันเดิมได้อยู่แล้ว ก็เลือกตั้งได้เลย

@การที่นักการเมืองแก้ไขกฎหมายแบบกลับไปกลับมา จะทำให้เกิดความวุ่นวายทางการเมืองในอนาคตหรือไม่

ยิ่งทำก็ยิ่งฟ้องตัวเอง ฟ้องประชาชนให้เขารู้สึก ยิ่งตอกย้ำความรู้สึกให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า การที่นักการเมืองพยายามกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูกทั้งหมด ไม่ได้ทำบนฐานที่ว่า คิดถึงผลประโยชน์ของประชาชนเลย ทั้งที่ตอนแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นแบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ก็เขียนในเจตนารมณ์ว่า เพื่อให้มีตัวแทนประชาชนใกล้ชิดมากขึ้นอ้างเป็นเหตุเป็นผล แต่หากแก้กันกลับไปกลับมาบนฐานว่า พรรคไหนจะได้เสียงมาก พรรคไหนจะได้เสียงน้อย ใครจะได้เปรียบ ใครจะเสียเปรียบ มากกว่าที่จะสนใจประชาชน แต่คงจะไม่นำไปสู่ความวุ่นวายทางการเมือง เพราะสุดท้ายกติกาทั้งหมด ไม่ว่าจะหาร 500 หาร 100 หรือกลับไปบัตรใบเดียว ประชาชนในส่วนที่มีแนวโน้มว่า หากไม่พอใจการเมืองจะออกมาชุมนุมนั้น เขามองว่า ไม่ว่ากติกาไหน พรรคที่เขาเลือกได้เปรียบ ขอให้ได้เลือกตั้งเถอะเขาจะไปสั่งสอนพวกนักแก้กติกาผ่านการลงคะแนนมากว่า หรืออีกด้านหนึ่งอาจจะมองว่า หากออกมาชุมนุมประท้วง อาจจะเป็นข้ออ้างให้เกิดการทำอย่างอื่นที่นอกเหนือกติกาแทน

@ขณะนี้คะแนนนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ และพรรครัฐบาล แตกต่างจากการเลือกตั้งปี 2562 ยังจะสามารถกลับเข้ามาด้วยสมการเดิมได้หรือไม่

แนวโน้มเป็นแบบนั้นว่า ถ้าจะทำเหมือนปี 2562 ปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ไม่เอื้อเหมือนปี 2562 แต่ต้องทำอะไรมากว่าปี 2562 ซึ่งเราก็เดาไม่ถูก เพราะในทางการเมือง มีวิธีการหรืออะไรที่เกิดขึ้นได้นอกเหนือความคาดหมาย เป็นอะไรที่ยังไม่แน่นอน เพียงแต่ว่าแนวโน้มวันนี้ ความนิยมรัฐบาลมันน้อยกว่าเดิม ปัจจัยที่เคยใช้เป็นจุดขายในการเลือกตั้งปี 2565 อย่างตัวบุคคล พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่ได้มีพลังได้เท่าเดิมแล้ว แต่มันไม่ได้มีปัจจัยแค่ 2 เรื่องนี้ที่จะเป็นตัวชี้ขาดผลการเลือกตั้ง เพราะอาจมีตัวแปรใหม่ขึ้นมาแล้วนำมาชูช่วงเลือกตั้ง อาจทำให้ผลการเลือกตั้งออกมาเข้าทางก็ได้