ศ.ระพี สาคริก เป็นนักวิชาการและนักวิจัยที่มีภูมิความรู้และภูมิปัญญาในศาสตร์หลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์การเกษตร อาทิ ปฐพี ข้าว พฤกษศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพาะเลี้ยงและการขยายพันธุ์กล้วยไม้ไทย ประการสำคัญมีการพัฒนากล้วยไม้ลูกผสม จนเป็นที่รู้จักและมีชื่อเสียงขจรขจายไปทั่วโลก ส่งผลให้ได้รับการยกย่องจากชาวไทยให้เป็น “บิดาแห่งกล้วยไม้ไทย” นอกจากนี้แล้ว ยังมีความรอบรู้ในศาสตร์แขนงอื่นๆอีกด้วย อาทิ สถิติ ปรัชญา สังคมวิทยา ฯลฯ กล่าวได้ว่าเป็นผู้สร้างคุณูปการอย่างใหญ่หลวงแก่วงการศึกษาไทยมาเป็นเวลายาวนานค่อนศตวรรษ นอกเหนือจากเป็นผู้ที่มีความสามารถในการถ่ายทอดวิชาความรู้แก่ผู้เรียนและผู้เข้ารับการอบรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลแล้ว ยังเป็นผู้ที่ให้ความสำคัญกับการยกระดับจิตใจและพัฒนาความคิดในเชิงสร้างสรรค์แก่ผู้คนทั่วไปในสังคมอีกด้วย เพื่อให้มีหลักคิดที่ถูกต้องและไม่บกพร่องในจิตสำนึก โดยจุดประกายความคิดให้แต่ละบุคคลเห็นคุณค่าชีวิตของคนอื่นเช่นเดียวกับเห็นคุณค่าชีวิตของตนเอง มีความเมตตากรุณาต่อกันในฐานะที่เป็นเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก ซึ่งจะเป็นผลดีต่อส่วนรวม สังคมมีความสงบสุข บ้านเมืองมีความสันติสุข เป็นที่น่าอยู่น่าอาศัยในการอยู่ร่วมกันของสังคมไทย

ศ.ระพี สาคริก ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่สอนหนังสือเท่านั้น แต่มีการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตนเองอยู่ตลอดเวลา โดยมีการศึกษาค้นคว้า วิจัยและทดลองเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ในการต่อยอดทางวิชาการและงานวิจัย ทำให้เกิดองค์ความรู้ทางวิชาการและมีผลงานวิจัยเจริญก้าวหน้าต่อเนื่องอย่างไม่หยุดยั้ง กระบวนการทำงานที่กล่าวถึงนี้เป็นการลงมือปฏิบัติงานด้วยตนเองทั้งสิ้น เริ่มต้นตั้งแต่การลงพื้นที่สำรวจและประมวลข้อมูลจากสภาพการณ์ที่แท้จริงด้วยการสังเกต การบันทึกข้อมูล ซึ่งมีการเก็บข้อมูลโดยการถ่ายภาพเนกาทีฟ ถ่ายภาพสไลด์ ถ่ายวีดิทัศน์ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นและความตั้งใจอันแน่วแน่ที่จะให้บรรลุเป้าหมายตามภารกิจ​ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน

แม้ว่า ศ.ระพี สาคริก จะสิ้นอายุขัยไปแล้วในวัย 95 ปีเศษ ใน พ.ศ. 2561 คุณความดีของ ศ.ระพี สาคริก ยังคงจารึกอยู่ในจิตใจของนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไม่รู้เลือน ประการสำคัญองค์ความรู้และภูมิปัญญาที่สั่งสมมาตลอดชีวิตของ ศ.ระพี สาคริก ที่มีอยู่มากมายเหลือคณานับ ไม่ว่าจะเป็นสื่อสิ่งพิมพ์ อาทิ เอกสาร บทความ หนังสือต่างๆ รวมถึงการเก็บข้อมูลจากการถ่ายภาพเนกาทีฟ ภาพถ่ายสไลด์ที่มีกว่า 50,000 ภาพ ตลอดจนเสียงที่ได้รับการบันทึกจากการเสวนา การอภิปราย การปาฐกถาในโอกาสต่างๆ รวมถึงรายการโทรทัศน์ “กล้วยไม้ริมสวน” ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ซึ่งนอกจากผู้ชมจะได้รับความรู้เรื่องกล้วยไม้แล้ว ศ.ระพี สาคริก ยังสอดแทรกให้ความรู้ด้านปรัชญาและแนวทางในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง​และ​เหมาะสม​

เป็นเรื่องที่น่าเสียดายยิ่งที่ ศ.ระพี สาคริก ได้ก่อตั้งมูลนิธิระพี-กัลยา สาคริก ในปี พ.ศ. 2549 โดยมีปณิธานและเจตนารมณ์ที่จะให้องค์กรแห่งนี้ดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติในช่วงปัจฉิมวัย ในห้วงเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา แต่มูลนิธิฯ กลับไม่สามารถขับเคลื่อนการทำงานให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายและอุดมการณ์ของ ศ.ระพี สาคริก ในการเผยแพร่ภูมิความรู้และภูมิปัญญาของ ศ.ระพี สาคริก ไปสู่สาธารณชนในวงกว้างได้ ทั้งๆที่ปัจจุบันเป็นยุคข้อมูลข่าวสารทางสื่อสังคมออนไลน์ที่มีแพลตฟอร์มต่างๆมากมาย อีกทั้งยอดเงินในบัญชีของมูลนิธิฯ ซึ่งเคยมีกว่า 1.2 ล้านบาท ที่ได้รับการบริจาคจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปัจจุบันมียอดเงินฝากคงเหลือในบัญชีเพียง 1 แสนบาทเศษเท่านั้น ทำให้นิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีความกังวลและห่วงใยต่อความเจริญมั่นคงของมูลนิธิฯ ที่ไม่สามารถบริหารจัดการองค์กรให้เป็นไปตามพันธกิจและภารกิจของมูลนิธิฯ ได้

จากรายงานการตรวจสอบบัญชีงบการเงินมูลนิธิฯ ประจำปี 2564 ซึ่งผู้ตรวจสอบบัญชีของมูลนิธิฯ มีข้อสังเกตและข้อแนะนำสำหรับการดำเนินกิจการของมูลนิธิฯ ดังนี้

ข้อสังเกต ได้แก่
1. ปี 2564 มูลนิธิฯ ไม่ดำเนินกิจกรรมตามวัตถุประสงค์สำคัญของมูลนิธิฯ
2.ทุนสะสม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 ประกอบด้วย ทุนเริ่มแรก 200,000 บาท เงินกองทุนย่อย 863,000 บาท ทุนสะสมจากการดำเนินงาน 720,961.87 บาท รวม 342,038.13 บาท
3. ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารต่ำกว่าเงินเฟ้อมาก

ข้อแนะนำ ได้แก่
1. ควรกำหนดกิจกรรมในแผนงาน หรือจัดทำประมาณการรับ-จ่าย เป็นเป้าหมายการปฏิบัติงานประจำปี เสนอต่อที่ประชุมมูลนิธิฯ
2. เนื่องจากทุนสะสมจากการดำเนินงานมียอดติดลบจำนวนสูง ทำให้ทุนสะสมลดลงเกินครึ่งหนึ่ง ซึ่งลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ควรพิจารณาปรับปรุงการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพเป็นไปตามวัตถุประสงค์ ทั้งนี้ควรขอรับการสนับสนุนการจัดงานจากภายนอกด้วย
3. ควรบริหารเงินทุนด้วยการพิจารณาแหล่งเงินทุนที่มีอัตราสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร เช่น พันธบัตรรัฐบาล เป็นต้น

ข้อเท็จจริงจากรายงานดังกล่าวสะท้อนถึงสภาพการณ์การบริหารจัดการองค์กรที่ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของมูลนิธิฯ เป็นอย่างมาก ซึ่งทางคณะกรรมการมูลนิธิฯ จะต้องทำการเปลี่ยนแปลงและปฏิรูปการองค์กรครั้งใหญ่อย่างเร่งด่วน เพื่อความเจริญมั่นคงของมูลนิธิฯสืบไป

…………………………………..
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”
แฟนเพจ : สาระจากพระธรรม

อ่านเพิ่มเติม :
บนเส้นทางชีวิต แนวคิด-กระบวนทัศน์ ศ.ระพี สาคริก