ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็มีกระแสอื้ออึงเกี่ยวกับพฤติกรรมของชาวกัมพูชารายหนึ่ง ที่เข้ามาทำอาชีพขอทานในไทย ที่นอกจากประเด็นเคยถูกจับ ถูกผลักดันจากประเทศไทยแล้วหลายครั้ง แต่สุดท้ายก็ยังกลับเข้าไทยมาขอทานได้อยู่เรื่อย ๆ แล้ว ก็ยังมีประเด็นฮือฮาเกี่ยวกับ “รายได้” ที่พบว่า…เม็ดเงินจากการขอทานที่ขอทานข้ามชาติรายนี้หาได้ในไทยในแต่ละเดือนนั้น…ชวนให้ “คนไทยที่ทำอาชีพต่าง ๆ อึ้ง!!” ไม่น้อย…

มีคนไทยถมไป ที่รายได้ต่อเดือนต่ำหมื่น

แต่ขอทานคนนี้ “หลักหมื่นถึงหลักแสน”

“อู้ฟู่” ขนาดนี้…คนไทยไม่อึ้งยังไงไหว??

ทั้งนี้ กับขอทานข้ามชาติรายที่ว่านี้ก็ว่ากันไป… อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมเกี่ยวกับ “ปัญหาขอทานในไทย” นั้น…นี่เป็น “อีกหนึ่งปัญหาเชิงสังคม” ที่สั่งสมบ่มเพาะอยู่คู่สังคมไทยคนไทยมายาวนาน โดย “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็เคยนำเสนอเกี่ยวกับปัญหานี้อยู่เนือง ๆ ซึ่งเมื่อย้อนดูในปี 2562 ในตอนนั้นก็มีการออกมาเปิดเผยว่า จำนวนขอทานข้ามชาติในประเทศไทยเพิ่มขึ้นมากแบบเงียบเชียบ!! ซึ่งแรก ๆ ที่ชาชินกันก็ไม่ค่อยจะได้ตระหนักกันว่า แทบจะทุกบริเวณที่เอื้อต่อการขอทานมี “ขอทานต่างชาติยึดครองพื้นที่” เป็นล่ำเป็นสัน!! จนกระทั่งถึงจุดหนึ่งก็มีผู้ร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง…

จากการที่ “มีขอทานเพิ่มขึ้นมากมาย”

ก็ได้ “มีการร้องให้จัดระเบียบขอทาน”

เมื่อโฟกัสเกี่ยวกับปัญหา “ขอทาน” ก็มีกรณีเกี่ยวข้องกรณีหนึ่งที่หลาย ๆ คนอาจจะลืมเลือนไปแล้ว คือ… ประเทศไทยนั้นมีกฎหมายเกี่ยวกับขอทาน ซึ่งนอกจากมี พ.ร.บ.การคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง พ.ศ. 2557ประเทศไทยก็ยังมี “พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559” ซึ่งสืบเนื่องจาก พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวนี้ ก็เคยเกิดเสียงฮือฮา เกิดกระแสอื้ออึงไม่น้อยในสังคมไทย โดยเฉพาะกับประเด็นที่เคยมีการระบุว่า… “ต้องเลิกให้เงินคนขอทานเพราะการให้เงินคนขอทานเป็นสิ่งผิดกฎหมาย…” แต่ภายหลังฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ก็ได้ระบุถึงเรื่องนี้ว่า…มิใช่จะเข้มงวดเอาผิดกับประชาชนที่ให้เงิน หรือกับขอทาน

มิได้มีการมุ่งเน้น-มุ่งเป้าที่การจับกุม…

หากแต่จะเน้นที่เรื่องของการช่วยเหลือ

อย่างไรก็ตาม กรณี “ขอทาน” ที่ยึดโยงกับ “กฎหมาย” นี้ ก่อนจะมีการชี้แจงจากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พลันที่มีข่าว “ให้เงินขอทานนั้นผิดกฎหมาย” ก็เกิดกระแสครึกโครม เกิด “เสียงสะท้อน” เกี่ยวกับการที่กฎหมายระบุว่าการหยิบยื่นเงินให้คนกลุ่มนี้ผิดกฎหมาย โดยมี “เสียงจากประชาชน” ที่สะท้อนไว้กับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ซึ่งหลายรายระบุว่า… “ไม่รู้มาก่อนเลยว่าการให้เงินขอทานผิดกฎหมาย!!” “ให้เงินกับขอทานถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายเลยหรือ??” ขณะที่บางรายบอกว่า…

“เชื่อว่าถึงมีการรณรงค์ให้รู้ว่า…การให้เงินขอทานเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่ก็คงจะยังมีหลายคนที่ยังให้เงินขอทาน เพราะก็อย่างที่พูดกัน…คนไทยขี้สงสาร และชอบทำบุญทำทาน เพราะฉะนั้นก็คงจะยังมีการให้เงินขอทานกันอยู่ดี แม้จะไม่รู้ว่าเป็นขอทานปลอมหรือเป็นแก๊งเป็นขบวนการหรือเปล่า” …นี่ก็เป็นเสียงสะท้อนที่ “น่าคิด??”

น่าคิดว่า “จุดเด่นนิสัยคนไทย” เรื่องนี้…

นี่ “เกี่ยวโยงกับปัญหาขอทาน” หรือไม่??

และสำหรับ “มุมวิเคราะห์” ต่อปัญหานี้ เรื่องนี้ จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ก็ได้เคยสะท้อนไว้กับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ในช่วงที่ “กฎหมายขอทาน” เป็นกระแสอื้ออึง ว่า… ก็ต้องเข้าใจว่าโดยพื้นฐานแล้ว “นิสัยคนไทยจะขี้สงสาร” รวมถึง “ชอบช่วยเหลือคนลำบาก” ทั้งกับเด็ก คนแก่ คนพิการ รวมถึงคนขอทาน ดังนั้น “การรณรงค์เรื่องห้ามให้เงินขอทานเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก” แม้ว่าหากเป็นแก๊ง มีขบวนการ การให้เงินก็เท่ากับไปส่งเสริมขบวนการ “ค้ามนุษย์” ก็ตามที ซึ่ง “ขอทาน” ที่เป็น “มิจฉาชีพแอบแฝง” หรือที่ “เป็นแก๊ง” หรือ “มีมาเฟียอยู่เบื้องหลัง” นั้น…

กับกรณี “มิจฉาชีพ-แก๊ง-มาเฟีย” นั้น…

“เจ้าหน้าที่ก็ต้องจริงจังในการจัดการ!!”

ทั้งนี้ สำหรับ “ขอทาน” ที่ไม่ใช่มิจฉาชีพ ไม่ใช่แก๊งขอทาน ไม่ได้มีมาเฟียชักใยเป็นขบวนการ หากแต่เป็น “ขอทานที่เป็นคนไทยที่สิ้นไร้หนทางทำกิน” ทาง ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ก็ระบุไว้ว่า… “สิ่งที่ควรดำเนินการคือส่งเสริมการทำงานภาคประชาสังคมให้มากกว่าเดิม โดยมีเครือข่ายร่วมด้วยช่วยกัน เพื่อ นำขอทานมาอบรม ปรับเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนวิถีชีวิตจากการขอทานไปทำอาชีพ ทำให้คนเหล่านี้เปลี่ยน มีอาชีพเลี้ยงตัวเองและครอบครัวได้ โดยใช้โมเดลคนไร้บ้านหรือคนไร้ที่พึ่ง ซึ่งคนทุกคนต่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”…เหล่านี้เป็น “เสียงสะท้อนปัญหาขอทาน” ที่มีมานานแล้ว…

อดีตจนถึงวันนี้…ไทยยังมีขอทานมาก”

“ปัญหาขอทาน” ดู วนเวียนขยายวง”

นี่ เพราะอะไร??” ตอนหน้ามาดูต่อ…