ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 ประจำปี 2565  (29th APEC Economic Leaders’ Week : AELW) ระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เป็นประธานกรรมการ และรองนายกรัฐมนตรีทุกคนเป็นรองประธานกรรมการ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เป็นกรรมการและเลขานุการ  

การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคในครั้งนี้ จัดขึ้นภายใต้แก่นความคิด (Theme) “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล (Open Connect Balance)” มี 21 เขตเศรษฐกิจเข้าร่วมประชุม ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ฮ่องกง นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทย จีนไทเป ชิลี เม็กซิโก ปาปัวนิวกินี เปรู รัสเซีย และเวียดนาม ซึ่งเป็นการประชุมแบบพบหน้ากันเต็มรูปแบบ (physical meeting) เป็นครั้งแรก หลังจากต้องจัดประชุมในรูปแบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (video conference) ระหว่างปี 2563-2564 เนื่องจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ในทั่วโลก

ประวัติความเป็นมาของเอเปค (APEC) เป็นการรวมกลุ่มแบบพหุภาคี ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2532 (ค.ศ. 1989) มีเป้าหมายหลัก คือ  เพื่อส่งเสริมการเปิดเสรีการค้า การลงทุน รวมถึงความร่วมมือในมิติสังคมและการพัฒนาต่าง ๆ สาขาความร่วมมือที่ไทยให้ความสำคัญในปี 2565 นี้ ประกอบด้วย 8 เรื่อง ได้แก่ ความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน ด้านการคลัง ด้านการท่องเที่ยว ด้านการเกษตร ด้านป่าไม้ ด้านกิจการสตรี ด้านการส่งเสริม ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (Micro Small and Medium Enterprises – MSMEs) และด้านสาธารณสุข โดยมุ่งสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม ยั่งยืน และความมั่งคั่งของประชาชนในภูมิภาคเอเปค  ซึ่งมีประชากรรวมกันกว่า 2,900 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของโลก และมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross domestic product – GDP) รวมกันกว่า 53 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1,700 ล้านล้านบาท ซึ่งเกินร้อยละ 50 ของ GDP โลก และมีมูลค่าการค้ารวมกันเกือบร้อยละ 50 ของการค้าโลก

การประชุมระดับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคครั้งนี้ ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพ ได้มุ่งผลักดันประเด็นหลัก 3 ประเด็น ดังนี้

1.เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ (Open)  เปิดการค้าการลงทุนเสรีและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเอเปค ผ่านการขับเคลื่อนการเจรจาเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of Asia-Pacific: FTAAP) ที่ต้องสะดวก รวดเร็ว และทุกคนต่างได้รับประโยชน์อย่างครอบคลุม ในบริบทของการเจริญเติบโตหลังโควิด-19 ที่จะสร้างการลงทุนให้เปิดกว้างขึ้น พร้อมตั้งรับการปรับเปลี่ยนสู่การเจริญเติบโตที่สมดุล ยั่งยืน และครอบคลุม ที่เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน

2.เชื่อมโยงกัน (Connect) ฟื้นฟูการเดินทางที่สะดวกและปลอดภัย ผ่านการจัดตั้งกลไกการประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่ออำนวยความสะดวกและรื้อฟื้นการเดินทางข้ามพรมแดนในภูมิภาคอย่างปลอดภัยและไร้รอยต่อ (APEC Safe Passage Taskforce) พร้อมหารือแนวทางที่จะช่วยในการส่งเสริม อาทิ การอำนวยความสะดวกให้แก่อาชีพที่สำคัญ เช่น ลูกเรือ การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีระบบรหัสแบบกุญแจสาธารณะ (Public Key Infrastructure : PKI) ในการแชร์ข้อมูลด้านสุขภาพในภูมิภาค และการขยายคุณสมบัติของบัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจเอเปค (APEC Business Travel Card: ABTC) ให้ครอบคลุมผู้เดินทางที่เปิดกว้างขึ้น เช่น ผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งเป็นวาระเร่งด่วนและต้องดำเนินการให้สำเร็จโดยเร็ว

3.สู่สมดุล (Balance) ส่งเสริมการเจริญเติบโตที่เน้นสร้างสมดุลในทุกด้านมากกว่าสร้างกำไร ผ่านการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การสร้างความมั่นคงทางอาหารและการเกษตรเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ภายใต้แนวคิด Balance in all aspects ให้ความสำคัญใน 4 ด้าน ได้แก่

3.1เศรษฐกิจที่เน้นการเติบโตอย่างทั่วถึงและลดความเหลื่อมล้ำ (inclusive economy) มีการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศและการเสริมพลังอำนาจแก่ผู้หญิง โดยเน้นแนวทางการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการ   ลา เซเรนาเพื่อสตรีและการเจริญเติบโตที่ครอบคลุม (La Serena Roadmap for Women and Inclusive Growth) รวมถึงผลักดันการสร้างเครือข่ายสตรีผู้ประกอบการ BCG ไปขยายผลในเอเปค

3.2พลังงานหมุนเวียน (renewable energy) นำโมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) มาปรับใช้ เพื่อสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็ก และสตาร์ทอัพ (startup) โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งคำนึงถึงผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมพร้อมไปกับสร้างผลกำไรทางธุรกิจ 

3.3ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน (Sustainability through managing resources) เช่น การจัดการทรัพยากรป่าไม้ โดยในปีหน้า APEC 2022 จะยังคงส่งเสริมความร่วมมือในอุตสาหกรรมป่าไม้ต่อไป และในสี่ปีถัดไปประเทศไทยจะเรียกประชุมรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านป่าไม้ เพื่อส่งเสริมการจัดการและการฟื้นฟูป่าอย่างยั่งยืน รวมถึงมีการรับรองผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ ซึ่งเอเปค จะมีการสำรวจวิธีการเพิ่มเติมเพื่ออำนวยความสะดวกในการค้าผลิตภัณฑ์จากป่าไม้ที่เก็บเกี่ยวมาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

3.4ด้านความมั่นคงทางอาหาร (food security) ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับมหาสมุทรและสิ่งแวดล้อมทางทะเล เอเปค จะส่งเสริมการใช้ข้อมูลและการวิจัย เพื่อแก้ไขปัญหาขยะในทะเล รวมถึงส่งเสริมการทำประมงรายย่อยและประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืน ส่วนด้านแผนงานความมั่นคงทางอาหาร (food security roadmap) เอเปค จะรับรองความปลอดภัย ความมั่นคง และความยั่งยืนของอาหารสำหรับทุกคน โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย เช่น Big Data

การประชุมเอเปคเป็นการสร้างโอกาสให้สมาชิกได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้อันจะนำไปสู่การดำเนินการเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในภูมิภาคได้อย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน ซึ่งการประชุมเอเปคจะมีการจัดขึ้นทุกปี แต่ละเขตเศรษฐกิจจะหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพ สำหรับปี 2565 นี้ เป็นการจัดประชุมเอเปคระดับผู้นำของประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งก่อนหน้านี้ไทยเคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีเมื่อปี 2535 และการประชุมระดับผู้นำเมื่อปี 2546

การประชุมเอเปคในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นผลดีแก่ประชาชนของทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ เพราะเป็นการกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจของสมาชิกทั้งหมดให้มีความแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพจัดการประชุม จะได้สะท้อนวิสัยทัศน์ การนำเสนอแนวคิดและแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจทั้ง 3 ด้านไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม  เน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่คำนึงถึงการนำพลังงานสะอาดจากธรรมชาติ ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ รวมถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ที่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ระบบนิเวศ เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมสีเขียวได้รับผลกระทบน้อยที่สุดจากการพัฒนาเศรษฐกิจ

การประชุมเอเปคในครั้งนี้ จะบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายอย่างสมบูรณ์และงดงามได้นั้น ขึ้นอยู่กับการมีส่วนร่วมของประชาชนชาวไทยในทุกภาคส่วนของสังคมด้วยอัธยาศัยไมตรีที่ดีงาม รอยยิ้มอันอบอุ่น การอำนวยความสะดวกแก่ชาวต่างชาติที่มาเยือนประเทศไทย ซึ่งจะสร้างความซาบซึ้งตรึงใจและเสริมสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยให้มีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น ให้สมกับเป็นจุดหมายปลายทางของชาวต่างประเทศทั่วโลกที่อยากจะเดินทางมาท่องเที่ยว มาทำงาน และมาใช้ชีวิตพำนักอยู่ในประเทศไทยหลังเกษียณอายุการทำงาน

…………………………
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”