ตั้งแต่การเกิดภัยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมฝนแล้งที่สร้างความเสียหายอย่างรุนแรง วันนี้ เดลินิวส์ ได้ตระหนึกถึงปัญหาดังกล่าว และจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงโลกไปด้วย คอลัมน์ตรวจการบ้าน โดย “ทีมการเมืองเดลินิวส์” จึงต้องมาสนทนากับ “วราวุธ ศิลปอาชา” รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บอกเล่าถึงความคืบหน้าในการแก้ปัญหาเพื่ออนาคตของโลกใบนี้

โดย “วราวุธ” เปิดประเด็น ถึงแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ว่า วันนี้ทุกฝ่ายเริ่มเข้าใจถึงบริบทของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และปัญหาที่จะเกิดขึ้นในมิติทั้งเรื่องเศรษฐกิจ แนวทาง จากนี้ไปประเด็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือสิ่งแวดล้อมจะถูกจับขึ้นมาเป็นเงื่อนไขทางเศรษฐกิจมากขึ้น ตอนนี้ภาคเอกชนขนาดใหญ่ของไทย เริ่มมีความตื่นตัวมากขึ้น เช่น สภาอุตสาหกรรมได้ทำงานร่วมกับทางองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก จนเปิดการเทรดคาร์บอนเครดิตเกิดขึ้นได้ในประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 ก.ย. ปีที่ผ่านมา ทำให้ตอนนี้มีบริษัทที่เข้ามาร่วมเทรด 100 กว่าบริษัทแล้ว และกำลังดำเนินการเข้าสู่ตลาดอีก 200-300 บริษัท แสดงให้เห็นถึงความตื่นตัวของภาคเอกชนในประเทศไทยมากขึ้น แต่พี่น้องประชาชน เกษตรกรระดับรากหญ้า ยังต้องใช้เวลาอีกนิดหนึ่ง ในการที่จะทำความเข้าใจและสร้างความตระหนักให้เข้าใจถึงผลกระทบ ทั้งที่จะเกิดขึ้นกับตัวเราเอง และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทางเศรษฐกิจด้วย

ในส่วนภาครัฐเอง ก็มีความท้าทายพอสมควร เพราะว่าทุกหน่วยงานและทุกกระทรวงในประเทศไทย ล้วนแล้วแต่จะต้องมีบทบาทในการปรับโทนการทำงาน หรือยุทธศาสตร์ของกระทรวงให้เข้ากับแนวทาง หรือเป้าหมายที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 ซึ่งภาคราชการเราเข้าใจกันดีอยู่แล้วว่ามีเงื่อนไข มีระเบียบ มาตรการต่างๆ เยอะ ทำให้การปรับตัวอาจจะทำได้ช้ากว่าภาคเอกชน จึงเป็นความท้าทายในส่วนของภาครัฐจะต้องเร่งดำเนินการให้ได้

@ประเด็นคาร์บอนเครดิตมีการพูดถึงมานานมากแล้ว แต่ยังดูไม่ได้เกิดเป็นรูปธรรมในประเทศไทย ในเรื่องการรับรู้ของประชาชนทั่วไป

เป็นเรื่องไม่ง่ายเลยที่จะอธิบายประเด็นเกี่ยวกับเรื่อง ไคลเมท เชนจ์ หรือเรื่อง คาร์บอนเครดิต ให้กับพี่น้องเกษตร หรือชาวบ้านได้ฟัง แต่ไม่ใช่ว่าไม่มีในปัจจุบันประเทศไทยเรามีป่าชุมชนอยู่ 1.2 หมื่นกว่าแห่ง ทางภาคเหนือ กลาง อีสาน ใต้ พี่น้องเกษตรกร พี่น้องในท้องที่เป็นเจ้าของป่าชุมชน เริ่มมีการพูดถึงคอนเซปต์ของคาร์บอนเครดิตกันมากขึ้น ทั้งนี้เมื่อเดือนที่แล้ว ผมได้ไปเปิดโครงการป่าชุมชนที่ได้ขึ้นทะเบียนกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก คือ ป่าชุมชนบ้านโค้งตาบาง ต.ท่าไม้รวก อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี เนื้อที่ประมาณ 5,000-6,000 ไร่ สามารถเป็นเครือข่ายที่สร้างรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกรได้

ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดี โดยมีป่าชุมชนหลายพื้นที่มาศึกษาดูงานว่าทำอย่างไร อย่าว่าแต่ชาวบ้านเลย บางครั้งข้ามกระทรวงไป คอนเซปต์เรื่องคาร์บอนเครดิต เรื่องไคลเมท เชนจ์ มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำความเข้าใจ แต่ทางกระทรวงทรัพยากรฯ ก็เร่งทำการประชาสัมพันธ์ในเชิงรุก มีการประสานงานกับทุกๆ หน่วยงาน ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อสร้างความตระหนักรับรู้ให้แก่พี่น้องเกษตรและประชาชนในระดับรากหญ้าด้วย

@ ในส่วนของการตั้งกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม หรือกรมไคลเมท เชนจ์ มีความคืบหน้าอย่างไรบ้าง

ตอนนี้เรื่องของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฯ ได้พิจารณาในส่วนของกระทรวงเสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้ส่งเรื่องยังคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เพื่อพิจารณา คาดว่า จะใช้เวลาไม่นาน เพราะว่ากลไกในการตั้งกรมไคลเมท เชนจ์ ไม่ได้เป็นการตั้งกรมใหม่ หรือเป็นการเพิ่มภาระให้กับงบประมาณของประเทศแต่อย่างใด ไม่ได้เป็นการเพิ่มจำนวนข้าราชการ เพียงแต่ต้องปรับบทบาทหน้าที่ของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่แล้วในกระทรวงทรัพยากรฯ ให้มีบทบาทหน้าที่ครอบคลุมมากขึ้น

@ เวลานี้อยู่ในช่วงปลายรัฐบาล การดำเนินการเรื่องคาร์บอนเครดิตจะสำเร็จและมีความต่อเนื่องได้อย่างไร

เราทำสำเร็จตั้งแต่เมื่อกลางปีที่แล้ว ในงานเกี่ยวกับเรื่องไคลเมท เชนจ์ ของประเทศไทย และในมุมมองของการทำงานร่วมกับต่างประเทศ เช่น เมื่อปลายเดือน มิ.ย. 2565 ประเทศไทย โดยกระทรวงทรัพยากรฯ ได้ลงนามในข้อตกลงซื้อขายคาร์บอนเครดิตกับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นคู่แรกของโลก ภายใต้เงื่อนไขการซื้อขายคาร์บอนเครดิตของข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ข้อ 6.2 โดยหลังจากนั้นเราจะโอนคาร์บอนเครดิตของเราจำนวนหนึ่งไปให้ทางสวิตเซอร์แลนด์ และในเวลาเดียวกัน ทางภาคเอกชนของสวิตเซอร์แลนด์ ก็จะสนับสนุนงบประมาณ เงินทุน และเทคโนโลยีมาให้กับภาคเอกชนของไทย ในการมีมาตรการลดก๊าซเรือนกระจก

ถามว่ามันคืออะไร สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ วันนี้รถเมล์ รถบัส ใน กทม. เริ่มมีการเปลี่ยนจากรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน หรือเครื่องยนต์ดีเซลเก่าๆ ที่เราเคยเห็นเป็นรถไฟฟ้าคันสีน้ำเงิน 100% แล้ว เป้าหมาย คือ อีกไม่กี่ปีจากนี้ไป รถเมล์ รถประจำทางทุกคันใน กทม. 4,000-5,000 คัน จะเปลี่ยนเป็นรถพลังงานไฟฟ้าหมดเลย 100% ถ้าทำได้ปริมาณฝุ่น PM2.5 หรือมลพิษที่เกิดขึ้นจากรถประจำทางก็แทบจะหายไปเลย ซึ่งเป็นผลพวงโดยตรงจากการที่กระทรวงทรัพยากรฯ ได้ดำเนินการในมิติของข้อตกลงปารีส

ดังนั้นในเวทีต่างประเทศการทำงานในเรื่องไคลเมท เชนจ์ ภายใต้ข้อตกลงปารีส ผมเชื่อว่าประเทศไทยของเราไม่ได้เป็นรองใครในโลกนี้เลย ไม่ใช่แค่ในอาเซียน หรือเอเชีย แต่ในระดับโลก เรามีการดำเนินการที่เด่นชัดและเป็นรูปธรรม

โดยประเทศไทยตั้งเป้าในการลดคาร์บอนไดออกไซด์ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากสูงสุดของไทยประมาณ 388 ล้านตันต่อปี ลงไปเหลือ 120 ล้านตันต่อปี ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่หายไปจะทดแทนด้วยคาร์บอนเครดิต ถ้าเทียบเป็นจำนวนเงินที่ต้องใช้ในการซื้อคาร์บอนเครดิตทั้งในและต่างประเทศ เป็นเงินมูลค่าหลายแสนล้านบาท ดังนั้นการปลูกต้นไม้ การที่จะรักษาความสมบูรณ์ของธรรมชาติ การเพิ่มพื้นทีสีเขียวจะเป็นสิ่งที่เพิ่มเงินในกระเป๋าให้กับพี่น้องเกษตรได้อย่างชัดเจน ในอนาคตเมื่อร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศผ่าน ครม. เข้าสภาและมีผลบังคับใช้แล้ว ราคาคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยจะถีบตัวสูงขึ้น ไม่แพ้ในยุโรป ที่ตอนนี้ซื้อขายกันตันละ 3,000-4,000 บาท

@หลังการเลือกตั้งมีโอกาสร่วมรัฐบาล ยังต้องการดูแลกระทรวงทรัพยากรฯ เพื่อสานต่องานนี้หรือไม่

สิ่งที่อยากฝากถึงประชาชนคือเรื่องไคลเมท เชนจ์ เป็นเรื่องที่ท้าทายมาก การเกิดภัยพิบัติต่างๆ น้ำท่วมน้ำแล้ง สาเหตุสำคัญหนึ่งเกิดจากการทำกิจกรรมของพวกเราทุกคน ทั้งอุตสาหกรรม การเกษตร การเผา การใช้ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลงเกินกว่าที่ควรจะเป็น ตลอดจนสายการผลิตต่างๆ เป็นฝีมือของมนุษย์ทั้งนั้น จึงได้เป็นสาเหตุที่กระทรวงทรัพยากรฯ ต้องเร่งทำความเข้าใจและสร้างความตระหนักให้ประชาชนและพี่น้องเกษตรกรในทุกระดับ และขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน ในการเร่งทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนทั่วประเทศ.