อย่าง“กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก” ต.หนองนาคำ จ.อุดรธานี ที่ได้มีการส่งเสริมให้ “ผู้สูงอายุ” ในชุมชนบ้านโนนกอกทำ “ตุงใยแมงมุม” ในรูปแบบ “โมบาย” ที่มีสีสันสดใสสวยงามจนกลายเป็นสินค้าที่สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้สูงวัยในชุมชนได้เป็นอย่างดี…ซึ่งวันนี้ทางทีมคอลัมน์ “ช่องทางทำกิน” มีข้อมูลมานำเสนอให้พิจารณากัน…

ต้น-อภิชาติ พลบัวไข” กับ “คิม-ชัยพงษ์ บริวาร” ผู้ที่เป็นแกนหลักในการก่อตั้ง “กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก” ขึ้นเพื่ออนุรักษ์การทอผ้าขิด ผ้าทอมือโบราณบ้านโนนกอก ให้เป็นแหล่งสร้างรายได้ที่มั่นคงยั่งยืนของคนในชุมชนบ้านโนนกอก โดยทั้งสองเล่าให้ฟังว่า…คนในหมู่บ้านส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรทำนา ส่วนการทอผ้านั้นเป็นสิ่งที่แทบทุกคนในหมู่บ้านนั้นทอกันอยู่แล้ว ซึ่งก็สืบทอดมาจากรุ่นปู่ย่าตายาย โดยคนในชุมชนจะใช้เวลาที่ว่างเว้นจากงานหลักมาทอผ้าสำหรับไว้ใส่กันเอง ซึ่งที่ผ่านมาก็มีการทอผ้าออกมาจำหน่ายกันอยู่บ้าง แต่ชาวบ้านไม่มีตลาดไม่รู้จะขายใครส่งผลทำให้ชาวบ้านไม่ค่อยทอผ้ากัน ทำให้ยิ่งนานวันการทอผ้าก็เริ่มเลือนหายไป ไม่เห็นชาวบ้านมีการทอผ้ามากว่า 20 ปี ที่เห็นก็มีคุณน้าที่เป็นญาติแค่คนเดียวที่ยังทอผ้าอยู่ ก็เลยอยากฟื้นฟูการทอผ้าไว้ให้คงอยู่ และสิ่งที่สำคัญสุด คืออยากสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ชาวบ้านในชุมชน

จุดเริ่มต้นของกลุ่มทอผ้าบ้านโนนกอก เริ่มจากมีสมาชิกคนเดียวคือคุณน้าที่เป็นญาติ พอน้าทอผ้าเสร็จก็ถ่ายรูปลงขายผ่านช่องทางโซเชียล จนทางกรมการพัฒนาชุมชนได้เปิดโอกาสให้กลุ่มทอผ้าบ้านโนนกอกเข้าสู่การเป็นผลิตภัณฑ์โอทอป (OTOP) ทำให้ได้ออกบูธขายตามงานต่าง ๆ จนผ้าทอมือบ้านโนนกอกเริ่มมีคนรู้จักมากขึ้น จากนั้นก็ค่อย ๆ ดึงคนเข้ามารวมกลุ่มจนมีสมาชิกทอผ้าเข้ากลุ่มมากขึ้น

“นอกจากการอนุรักษ์ฟื้นฟูการทอผ้าไว้ให้คงอยู่แล้ว ปัจจุบันผ้าทอมือบ้านโนนกอกยังเป็นสินค้าที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในชุมชนได้อย่างมั่นคง ยั่งยืน อีกด้วย” ผู้ก่อตั้งกลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอกกล่าว

ซึ่งนอกจากสร้างอาชีพจากการทอผ้าแล้ว ทางกลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก ยังได้ขยายไปสู่การสร้างอาชีพอื่น ๆ อีกหลากหลายเพื่อให้ชาวบ้านทุกคนในชุมชนได้มีรายได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ทอผ้าไม่เป็นก็มีการส่งเสริมทำงานฝีมืออย่าง ตุงใยแมงมุมแบบโมบายขายสร้างรายได้เสริม

“สำหรับตุงใยแมงมุมนั้นส่วนใหญ่ผู้สูงอายุในหมู่บ้านจะทำกันเป็นอยู่แล้ว เพราะเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของหมู่บ้านที่สืบทอดต่อกันมา เพียงแต่จะทำกันเฉพาะงานบุญ สงกรานต์ ทางเราก็มองว่าน่าจะนำมาต่อยอดทำเป็นสินค้าขายได้ ทางกลุ่มฯ จึงจัดหาอุปกรณ์มาให้ผู้สูงอายุที่ทอผ้าไม่เป็นมารวมกลุ่มทำตุงใยแมงมุมโมบาย และทางกลุ่มฯ ก็หาตลาดขายให้ ซึ่งก็ทำให้ผู้สูงอายุที่ทำตุงใยแมงมุมมีรายได้ต่อเดือนเป็นรายได้เสริมอยู่ที่ประมาณ 3,000-4,000 บาทขึ้นไปต่อคน” ผู้ก่อตั้งกลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอกกล่าว

ทุนเบื้องต้น ใช้เงินลงทุนประมาณไม่เกิน 2,000 บาทส่วนใหญ่เป็นค่าวัสดุและอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการทำชิ้นงาน ทุนวัสดุ อยู่ที่ประมาณ 40% จากราคา ซึ่งราคาขายตุงใยแมงมุมแบบโมบายมีราคาอยู่ที่ 200-1,000 บาทขึ้นไป ราคาขายขึ้นอยู่ที่ขนาด รูปแบบและความยากง่ายของชิ้นงาน วัสดุอุปกรณ์ ที่จำเป็น ประกอบด้วย ไหมพรม, ไม้ไผ่, กรรไกร

ขั้นตอนการทำ..ตุงใยแมงมุมรูปแบบโมบาย

เริ่มจากทำการเหลาไม้ไผ่เป็นซีกให้ได้ขนาดตามที่ต้องการ ทำการขัดลบเสี้ยนไม้ให้เรียบร้อย จากนั้นเริ่มทำส่วนที่เป็นฐานด้านบน ที่เป็นตุง 6 เหลี่ยมก่อน โดยนำไม้ไผ่ที่เหลาเตรียมไว้ ขนาดความยาวประมาณ 1 ฟุต จำนวน 3 อัน มาทำการประกบไขว้กันให้ได้ปลายของไม้ไผ่เป็น 6 ด้านเท่า ๆ กัน ใช้ตะปูตัวเล็กตอกยึดตรงกลางให้แน่น จากนั้นก็ใช้ด้ายหรือไหมพรมโดยเลือกสีตามที่ต้องการแล้วทำการพันมัดยึดให้แน่นหนา และจัดระยะห่างของไม้ไผ่ให้เท่ากัน เสร็จแล้วก็นำไหมพรมเลือกสีตามที่ต้องมาทำการพันใส่ลงไปบนก้านไม้ไผ่พันวนไปเรื่อย ๆ ทีละก้าน พันจนไปสุดปลายไม้ทำการมัดยึดติดให้แน่นหนาใช้กรรไกรตัดปลายไหมพรม ก็จะได้เป็นฐานด้านบนของโมบายเตรียมไว้

จากนั้นก็เริ่มมาทำส่วนที่เป็นโมบาย ส่วนนี้จะทำเป็นตุง 4 เหลี่ยม ขั้นตอนการทำก็ใช้ไม้จำนวน 2 อัน มาวางไขว้กันเป็นลักษณะกากบาท ใช้ไหมพรมพันยึดตรงกลางให้แน่นหนา เสร็จแล้วก็นำไหมพรมมาทำการพันไล่เรียงไปทีละก้านไม้จนสุดปลาย โดยเส้นโมบายนั้นจะทำทั้งหมด 7 เส้น แต่ละเส้นนั้นก็จะมีตุง 4 เหลี่ยม 5 ชิ้น 5 ขนาด ร้อยไล่เรียงลงมาจากขนาดใหญ่มาขนาดเล็ก เมื่อได้เส้นโมบายครบตามจำนวนแล้วก็นำไปพันติดกับฐานด้านบนที่ทำเตรียมไว้ ทั้ง 6 มุม และตรงกลางอีก 1 เส้น ใช้ไหมพรมพัดยึดทำเป็นที่แขวนไว้ด้านบนเท่านี้ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการทำ พร้อมจำหน่ายได้ทันที

สนใจงาน “ตุงใยแมงมุมแบบโมบาย” ของกลุ่มทอผ้าบ้านโนนกอก สามารถติดต่อไปได้ทาง เฟซบุ๊ก : กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก หรือ เฟซบุ๊ก : ผ้าทอมือหมกโคลนบัวแดง ชายคิม…ซึ่งนี่ก็ถือเป็นกรณีศึกษา “ช่องทางทำกิน” ที่เป็นการนำภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่เป็นสัญลักษณ์ความเชื่อด้านโชคลาภ มาต่อยอดพัฒนาจนกลายเป็นสินค้าที่สามารถช่วยสร้างรายได้ให้กับ “ผู้สูงอายุ” ในชุมชนได้อย่างน่าสนใจ.

คู่มือลงทุน…ตุงใยแมงมุมแบบโมบาย
ทุนเบื้องต้น ประมาณไม่เกิน 2,000 บาท
ทุนวัสดุ ประมาณ 40% จากราคา
รายได้ ราคา 200-1,000 บาทขึ้นไป/ชิ้น
แรงงาน 1 คนขึ้นไป
ตลาด ขายผ่านทางออนไลน์
จุดน่าสนใจ ชิ้นงานเกี่ยวกับโชคลาภคนสนใจ

……………………………..
บดินทร์ ศักดาเยี่ยงยงค์

คลิกอ่านทั้งหมดที่นี่