ไปรับการรักษาเป็นระยะ ๆ แต่ไม่ได้ผล

รายละเอียดเรื่องนี้ทีม “อุ่นใจ…ใกล้หมอ” ได้รับทราบจาก “คุณโสพน เหล็ง” สตรีชาวกัมพูชาที่มีอายุนำหน้าด้วยเลข 5 ในปัจจุบันที่ใช้ชีวิตอยู่กับโรคหัวใจ ซึ่งแม้จะไปเข้ารับการรักษาจากหลายหมอมาแล้วก็ไม่อาจพ้นทุกข์จากภาวะหัวใจเต้นพลิ้วผิดจังหวะได้ โชคดีที่มีผู้แนะนำให้เดินทางมาเมืองไทยและติดต่อขอรับการรักษาที่ “โรงพยาบาลสุขุมวิท” จึงประสบผลสำเร็จได้ดังหวัง หลังจากนั้นจึงเผยผ่านล่ามเกี่ยวกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นโดยใช้สรรพนามแทนตัวว่า “ป้า” มีเนื้อหาดังนี้…

“…ตอนแรกมีอาการแบบว่า…วันไหนที่นอนไม่เพียงพอ มีอาการหัวใจสั่นเต้นแรง และความดันขึ้นสูงเลย อาการใจสั่น ความดันสูงขึ้น บ่อยครั้งมาก…เป็นมาตั้งแต่อายุ 18 ปี แต่ยังไม่ได้รักษาด้วยวิธีใดจนถึงอายุ 40 ปีจึงไปรักษา ซึ่งก็ได้มาแค่คำแนะนำโดยยังไม่ได้ให้กินยาแต่อย่างใด… จากนั้นป้าก็ไปรักษาที่หลายโรงพยาบาล แบบไม่รู้ว่าจะไปรักษาที่ไหนจึงจะได้พบคุณหมอเก่ง ๆ ที่เชี่ยวชาญด้านหัวใจ…

แต่พอได้มาพบกับล่ามชื่อสาราย จึงได้รับคำแนะนำให้มา โรงพยาบาลสุขุมวิท ซึ่งเขาบอกว่ามีคุณหมอเก่งเฉพาะทางด้านหัวใจ และพอมาที่โรงพยาบาลนี้แล้วก็รู้สึกมั่นใจเพราะได้รับการตรวจจากคุณหมอแล้วเกิดความเชื่อถือเมื่อได้ทราบว่าเดี๋ยวนี้คุณหมอใช้เทคนิคและวิทยาการทันสมัยในการรักษา… โดยตอนแรกที่ได้รับการรักษาแล้วก็ยังคงมีอาการเช่นใจสั่นนิดหน่อย แต่พอถึงเดือนที่ 2 ก็ไม่ค่อยมีอาการแล้ว…ดีขึ้นเยอะ ก็ดีใจมาก ๆ เลยที่มีทีมแพทย์พยาบาลสามารถรักษาป้าให้หายจากโรคนี้ได้สำเร็จ ดีใจที่โรคหัวใจของป้าหายดี ดีใจอย่างยิ่ง… ป้าจึงขอฝากถึงผู้ป่วยชาวกัมพูชาที่มีโรคหัวใจเหมือนกันว่าให้เข้ามารับการรักษา ไม่ต้องกังวลใจใด ๆ ตอนนี้มีเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้รักษา ผู้ป่วยทุกท่านจึงไม่ต้องห่วงอีกต่อไปแล้ว ซึ่งช่วยให้การรักษาของป้าได้ผลดี ช่วยให้มีความสุขสบายใจ ดีใจเป็นอย่างยิ่งเลย…”

ได้ความรู้จากคุณหมอจึง ‘มั่นใจ-เดินหน้ารักษา’

ท่านผู้อ่านที่ได้ยินได้ฟังได้รับรู้จากที่คนป่วยเล่าด้วยความดีอกดีใจอย่างนี้ ก็คงจะรู้สึกยินดีกับการที่คนต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้านสามารถพ้นทุกข์จากอาการป่วยที่เผชิญมากว่าค่อนชีวิต หลังจากมารับการรักษาที่โรงพยาบาลในบ้านเรา ภายใต้การดูแลของคุณหมอซึ่งเป็น “แพทย์อายุรกรรมโรคหัวใจและหลอดเลือด” ประจำ“โรงพยาบาลสุขุมวิท” ซึ่งมีนามว่า “นพ.อภิชัย โภคาวัฒนา” โดยคุณหมอได้อธิบายเกี่ยวกับอาการป่วยในลักษณะที่ “คุณป้าโสพน” ได้เผชิญมาแล้ว ดังนี้…

หัตถการจี้ไฟฟ้าหัวใจด้วยความเย็น

“…คนไข้เป็น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ตั้งแต่อายุ 18 ครับ ที่ผ่านมาคือได้กินยามาตลอดแต่ปัญหาคือกินแล้วก็ยังมีอาการ จึงได้ไปรับการตรวจจากโรงพยาบาลหลายที่หลายแห่งทั้งในละแวกและที่ไกล ๆ ก็ไปมาแล้ว และคุณหมอหลาย ๆ ท่านก็ได้แนะนำเรื่องของ การจี้ไฟฟ้าหัวใจ แต่ตัวเขาเองมีความกังวลว่า เอ๊ะ…ทำแล้วมันจะเป็นยังไง คือหลาย ๆ ครั้งที่ได้ฟังคุณหมอพูดแค่ว่าควรต้องจี้ไฟฟ้าหัวใจ แต่ไม่ได้อธิบายรายละเอียดให้ทราบว่าวิธีการทำเป็นแบบไหนอย่างไร จึงทำให้กังวล… แต่เมื่อมาที่นี่แล้วช่วยให้ทราบถึงเทคนิคในการจี้ไฟฟ้าหัวใจในปัจจุบันนี้ว่าจะมีอยู่ 2-3 เทคนิค เทคนิคแรกคือการจี้โดยความร้อน ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 4-5 ชั่วโมงนะครับ ซึ่งคนไข้ได้ยินแล้วก็รู้สึกกังวลว่าทำไมมันนานขนาดนั้น…มันน่ากลัวหรือเปล่า แม้จะรู้ว่าปัจจุบันตอนจี้ก็ไม่ต้องมีการดมยาสลบอะไรด้วยซ้ำ แต่คนไข้หลาย ๆ คนจะเกิดความอึดอัดไม่สบายตัวบ้าง ผมจึงได้แนะนำวิธีที่ใหม่กว่านั้นซึ่งเรียกว่าเป็น การจี้โดยใช้ความเย็น ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้ในการจี้จะมีลักษณะคล้าย ๆ บอลลูนสอดเข้าไปโดยผ่านทางเส้นเลือดดำโดยสอดสายสวนผ่านเข้าไปจี้ตรงตำแหน่งที่ก่อให้เกิดปัญหาเพื่อทำลายต้นตอ โดยใช้เวลาในการทำสั้นลงมาก ก็ได้อธิบายให้เขาเข้าใจถึงหลักการทำงานว่าการจี้ไฟฟ้าหัวใจจะแตกต่างกับการผ่าตัดใหญ่ พูดตรง ๆ คือคนละเรื่องเลยครับ เพราะการจี้ไฟฟ้าหัวใจถือว่าเป็นหัตถการที่มีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ และวิธีการทำไม่ยุ่งยาก ส่วนใหญ่เราไม่ได้ให้ดมยาสลบอยู่แล้ว และระหว่างที่หมอทำหัตถการนี้ก็สามารถพูดคุยกันได้รู้เรื่อง เช่น หากรู้สึกเหมือนเจ็บมากก็บอกกันได้เพื่อจะได้ฉีดยาชาให้ หลักการก็ง่าย ๆ แบบนี้เลยครับ…

คุณโสพน เหล็ง Video Call

สำหรับคนไข้ชาวกัมพูชารายนี้ได้เข้ารับการนอนพักรักษาในโรงพยาบาลเราประมาณ 2 วันแล้วก็บินกลับประเทศไปใช้ชีวิตปกติได้เลยนะครับ เวลานัดตรวจติดตามผลหลังการทำหัตถการคนไข้รายนี้ก็ไม่ต้องเดินทางมาหาหมอที่โรงพยาบาลเพราะเราใช้ระบบ Video Call คุยกันโดยที่ตัวคนไข้อยู่ที่กัมพูชา ก็ช่วยให้ทราบว่าคนไข้ค่อนข้างโอเคขึ้นมากแล้วครับ อาการหลาย ๆ อย่างที่เขาเป็นมาและสร้างความกังวลมาตลอดก็หายไปแล้ว ตอนนี้ชีวิตเขาค่อนข้างอิสระได้มากขึ้นครับ…”

ควรไปตรวจสุขภาพหัวใจอย่างน้อยปีละครั้ง

หลังจากนั้น “คุณหมออภิชัย” ได้ฝากความห่วงใยมายังท่านผู้อ่าน โดยระบุว่า… “…ปัจจุบันยังมีหลายคนคิดว่าอายุน้อยไม่น่ามีโรคหัวใจ แต่จริง ๆ เดี๋ยวนี้เราพบว่าคนที่เจอโรคหัวใจเล่นงานมีอายุน้อยลงเรื่อย ๆ นะครับ โดยเฉพาะใครที่มีเรื่องของไขมันในเลือดสูง ซึ่งหลายคนอาจเข้าใจว่ามีไขมันสูงเพราะกินเยอะ…ต้องเป็นคนอ้วน แต่ความจริงแล้วมันเป็นโรคทางพันธุกรรมนะครับ คือแปลว่า ต่อให้เราไม่อ้วน ต่อให้เราไม่กินมัน แต่ถ้าเรามีกรรมพันธุ์ของโรคไขมันในเลือดสูงอยู่ก็มีโอกาสเสี่ยงเหมือนกันครับ จึงอยากแนะว่าโรคแบบนี้ไม่ไปตรวจก็จะไม่รู้ เพราะดูแค่หน้ากันก็ไม่สามารถบอกได้ว่าไขมันสูงหรือเปล่านะครับ ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ก็หาโอกาสตรวจสุขภาพก็ดีครับ อย่างน้อยจะได้ผ่อนหนักเป็นเบา เพราะหลาย ๆ คนไม่รู้ตัวมาก่อนเลยว่ามีโรคประจำตัวซ่อนอยู่ ถ้ามีโอกาสก็แนะนำให้มาตรวจอย่างน้อยปีละครั้งนะครับ…

นพ.อภิชัย โภคาวัฒนา

และที่ ศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลสุขุมวิท ได้เตรียมไว้ครบเครื่องเรื่องอุปกรณ์ มีความพร้อมในการดูแลคนไข้ทุกประเภท โดยเฉพาะโรคที่เราเจอบ่อยในปัจจุบัน ไม่ว่าโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ และหัวใจเต้นช้าที่ต้องใส่อุปกรณ์ไฟฟ้าหัวใจ หรือผ่าตัดหัวใจก็ได้จัดทีมไว้พร้อมเสมอ เพื่อการดูแลคนไข้ครับ…”.

หมอจอแก้ว