นี่เป็นคำบอกเล่ากับ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ไว้โดย ลาวัลย์ มะเจียกจร ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 5 ต.ลุ่มสุ่ม อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ในโอกาสที่ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ได้ร่วมคณะ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ไปเยี่ยมชมพื้นที่นี้…

“บ้านสามัคคีธรรม” เป็นชุมชนเกษตร

และยังเป็น “ต้นแบบชุมชนท่องเที่ยว”

เป็น “อีกหนึ่งกรณีศึกษา” ที่น่าสนใจ…

ทั้งนี้ “ชีวิตชาวชุมชนบ้านสามัคคีธรรมวันนี้เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น” โดยผู้ใหญ่ฯ ลาวัลย์ เล่าว่า… ป่าชุมชนในชุมชนนี้มี “ไผ่” อยู่มาก ซึ่งนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งแปรรูปเป็นอาหาร และ แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ อาทิ แก้วน้ำไม้ไผ่, หลอดไม้ไผ่ เป็นต้น ซึ่งการทำผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่ก็จะมี “เศษไม้ไผ่เหลือทิ้ง” จำนวนมาก ชาวชุมชนก็มองว่าน่าจะ นำวัสดุเหลือทิ้งมาต่อยอดใช้ประโยชน์เพิ่มเติม จึงนำสู่การ นำมาจักสานเป็นเฝือกไม้ไผ่ แผ่นไม้ไผ่อัด จำหน่ายให้ลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งก็มีกระแสตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้ที่สนใจ ทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ชุมชนได้อีกส่วน

และไม่เท่านั้น… ชุมชนบ้านสามัคคีธรรม นี้ยังมี ทรัพยากรในชุมชนที่สามารถใช้ประโยชน์เพื่อ “สร้างอาชีพ-สร้างรายได้” เพิ่มเติมได้อีก นั่นก็คือ “อ่างเก็บน้ำบ้านสามัคคีธรรม” ที่ทุกวันนี้นักท่องเที่ยวได้ขนานนามที่นี่ให้เป็น “ปางอุ๋งไทรโยค” โดยมีพื้นที่โล่งกว้างริมอ่างเก็บน้ำ ที่โอบล้อมด้วยธรรมชาติ ป่าไม้ ภูเขา ซึ่งถือเป็น “จุดเช็กอิน” ของพื้นที่นี้…

เป็น “แหล่งท่องเที่ยวสร้างรายได้”…

จากการ “จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน”

แหล่งท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้ชุมชนบ้านสามัคคีธรรมนั้น เป็นแหล่ง “ท่องเที่ยวเชิงเกษตร” หรือที่ศัพท์ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Agro-Tourism” ซึ่งเป็นแนวทางที่ สามารถช่วย “สร้าอาชีพเสริม-ยกระดับรายได้” ให้กับชุมชนเกษตรต่าง ๆ ที่มีทุนชุมชนเอื้อเพื่อการนี้ ได้เป็นอย่างดี โดย “หัวใจ” อยู่ที่ “ใช้จุดเด่นชุมชนมาพัฒนาต่อยอด” และมีการ วางแนวทางบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวของชุมชนให้สอดคล้องกับความต้องการของนักท่องเที่ยว ควบคู่กับดูแลสิ่งแวดล้อม และใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพื่อสร้างความยั่งยืนให้ชุมชน …ซึ่ง “บ้านสามัคคีธรรม” ก็เป็นอีก “กรณีศึกษาน่าสนใจ”

โดยที่… นอกจาก “ทุนชุมชน” ที่มีอยู่เดิมแล้วกับ “ทุนด้านองค์ความรู้ในการบริหารจัดการ” และ “ทุนในการดำเนินการ” ก็ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญ ซึ่งสำหรับ “ชุมชนบ้านสามัคคีธรรม” ต.ลุ่มสุ่ม อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ที่เป็นหนึ่งใน “ต้นแบบชุมชนท่องเที่ยว” แห่งนี้ ทาง ธ.ก.ส. ด้เข้าไปมีส่วนช่วยให้ชุมชนนี้เกิดการต่อยอดทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ และร่วมให้คำแนะนำในการพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในด้านการสร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างยั่งยืน ผ่านรูปแบบการดำเนินการ “Agro-Tourism” หรือ “ท่องเที่ยวเชิงเกษตร” ซึ่งปัจจุบันชาวชุมชนนี้ต่าง “มีรอยยิ้ม-มีความสุข”

จากการที่ทุกคน “มีชีวิตที่เปลี่ยนไป”

“มีอาชีพ-มีรายได้” ที่ “ยั่งยืนมากขึ้น”

ทั้งนี้ ฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการ ธ.ก.ส. เผยผ่าน “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ว่า… ชุมชนบ้านสามัคคีธรรม” ต.ลุ่มสุ่ม อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี นั้น ธ.ก.ส. ได้ผลักดันการ ดูแลสิ่งแวดล้อมภายใต้แนวคิด “BCG โมเดล” ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และยกระดับ ชุมชนสู่การเป็น “แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร” ที่เป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศ

และในส่วนของ ธ.ก.ส. เองนั้น…ก็ได้มีการตั้งเป้าไว้ว่าจะดำเนินการส่งเสริมการ สร้างเส้นทางท่องเที่ยวเชิงเกษตร 12 เส้นทางทั่วประเทศไทย เพื่อที่จะยกระดับชุมชนท่องเที่ยวสู่มาตรฐานสากลอย่างน้อย 97 ชุมชน และสร้างฐานเครือข่ายชุมชนได้กว่า 290 ชุมชน โดยได้เข้าไปสนับสนุนชุมชนในหลาย ๆ มิติ ผ่านโครงการ “D & MBA (Design and Management By Area)” ซึ่งสามารถพัฒนาลูกค้าและชุมชนได้มากกว่า 8,889 รายแล้ว โดยมีการ เติมองค์ความรู้ให้ชุมชนต่าง ๆ ด้วยโมเดล “1U1C (1 University 1 Community)” โดยร่วมกับเครือข่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ต่าง ๆ

“มีการช่วยพัฒนามาตรฐานสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่คุณค่าเพื่อรองรับการเติบโตใหม่ โดยอาศัยทักษะผู้ที่เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ เข้าไปช่วยเสริมในเรื่องที่ชุมชนยังขาดทักษะอยู่ อาทิ ด้านการผลิต การตลาด การบริหารจัดการ และการพัฒนา สร้างมูลค่าเพิ่มผ่านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงช่วยสร้างแพลตฟอร์มเชื่อมโยงธุรกิจการเกษตรเข้าหากันอีกด้วย”

นอกจากนี้ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ยังระบุด้วยว่า… การสนับสนุนรวมถึงเพิ่มโอกาสให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งทุนอัตราดอกเบี้ยผ่อนปรน ผ่านสินเชื่อต่าง ๆและยังมีการ สนับสนุนการเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยชุมชนสามารถใช้ไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันผ่าน “โครงการธนาคารต้นไม้” เพื่อต่อยอดสู่การขาย “คาร์บอนเครดิต (Carbon Credit)” สร้างรายได้เพิ่มสู่ชุมชนด้วย

“บ้านสามัคคีธรรม”…นี่ก็ “กรณีศึกษา”

กรณี… “พัฒนาชุมชนภาคการเกษตร”

ทำให้… “ชุมชนเกษตรอยู่ดีมีสุขได้”.