ซึ่งคนที่ได้อ่านข่าวนี้หลายคนอาจจะรู้สึกว่า “สม!!” และก็คิดว่านี่เป็น “จุดจบสายแว้น” รายนี้… อย่างไรก็ตาม หากโฟกัสถึง “จุดจบ” ในภาพรวมเกี่ยวกับ “จุดจบปัญหาแว้นในเมืองไทย”… ที่ผ่านมานั้นก็ต้องบอกว่า “ยังเห็นภาพไม่ชัด” และในทางกลับกัน…ที่ยิ่งชัดคือ “ปัญหาแว้นในเมืองไทยนับวันยิ่งขยายวง!!”… 

“แว้นไทยยังมีเกลื่อน” อยู่ทั่วไทย…

ซ้ำยัง “มีแว้นต่างชาติผสมโรงในไทย”

อย่างไรก็ตามกับการ “แก้ปัญหาแว้นในไทย” นั้น วันนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” จะสะท้อนต่อข้อมูลที่มีกระแสล่าสุด-ที่ก็ “น่าสนใจ” โดยทางตำรวจ กับคณะทำงานแก้ปัญหาที่ชื่อยาว ๆ คือ “คณะทำงานป้องกันและปราบปรามการขับขี่รถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น แข่งรถในทาง และความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง” ได้มีการเผยถึง “แนวทาง-มาตรการแก้ปัญหา” และ “แนวทางป้องกันปัญหา” ที่จะแบ่งเป็นพื้นที่ ต้นทาง กลางทาง ปลายทาง ขณะที่มาตรการเชิงรุกจะแบ่งเป็น ก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ การสอบสวนขยายผล และการเฝ้าระวังและปรับพฤติกรรม

“แนวทางอัปเดตล่าสุด” ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เปิดเผยนี้ก็ชี้ชัดถึงความพยายามที่จะ “แก้ปัญหาแว้น” ซึ่งเป็นอีกปัญหาที่สั่งสมคาราคาซังมายาวนาน จนปัจจุบันไม่ได้มีแค่ “แว้นไทย” หากแต่บางพื้นที่ โดยเฉพาะ “โซนท่องเที่ยว” หรือ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ก็ยังมี “แว้นต่างชาติ” เพิ่มระดับปัญหาด้วย ซึ่งกับมาตรการล่าสุดที่ว่าก็ “น่าตามดูผลในทางปฏิบัติ”

ทั้งนี้ ว่าด้วย “ปัญหาแว้นในเมืองไทย” นั้น…สำหรับปัญหาเรื่องนี้ “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ก็มีการนำเสนอมาต่อเนื่อง รวมถึงนำเสนอ “มุมสะท้อน-ข้อเสนอ” โดยนักวิชาการ ที่ได้ฉายภาพให้เห็นถึงสถานการณ์ปัญหานี้ และหนึ่งในชุดข้อมูลที่ก็น่าจะได้พิจารณากัน
มาก ๆ ด้วยคือ… “แนวทางการจัดการความรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามเด็กแว้น” โดย ดร.สุรีย์พร นิพิฐวิทยา และคณะ ที่ได้ศึกษาวิจัยเด็กแว้น และนำสู่ “ข้อมูลเพื่อใช้แก้ปัญหาที่น่าสนใจ”

โดยสังเขปของข้อมูลจากผลศึกษาวิจัยชุดนี้ ได้มีการฉายภาพ “การรวมกลุ่มเพื่อแข่งแว้น” ไว้ว่า… สามารถแบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ… การรวมกลุ่มกัน แบบบังเอิญ เช่น… ที่ร้านแต่งรถ ร้านเกม ร้านสนุกเกอร์ หรือภายในชุมชน และการรวมกลุ่มกัน แบบไม่บังเอิญ โดย… มีการหาข้อมูลการรวมกลุ่มแว้นจากสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ที่มีการใช้เป็นช่องทางแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ส่วน “วัน-เวลาแข่งแว้น” นั้นพบว่า… สายแว้นส่วนใหญ่จะ แบ่งวัน-เวลากันชัดเจนระหว่างรถยนต์ กับรถจักรยานยนต์ หรือ จยย. ซึ่งนี่เป็นข้อมูลเบื้องต้นจากการวิจัยที่ได้มีการลงไปเก็บข้อมูลแบบลงลึก

การศึกษาวิจัยได้พบข้อมูล “ช่วงอายุเด็กแว้น-สายแว้น” ซึ่งพบว่า… ปัจจุบันเด็กแว้นมีตั้งแต่อายุ 13-14 ปี โดยช่วงอายุเด็กแว้นมีแนวโน้มอายุน้อยลงเรื่อย ๆ และมีทั้งชายและหญิง!! อีกทั้งมุมมองเด็กแว้นหลายคนที่ให้ข้อมูลก็น่าคิดอย่างมาก นั่นคือ… เด็กแว้นหลายคน รู้สึกสนุกกับการขี่รถหลบหนีการจับกุมของตำรวจ และมองเป็นเรื่องตื่นเต้นท้าทาย ซึ่งใครรอดได้ก็จะนำเรื่องไปเล่าแลกเปลี่ยนกันเป็นที่สนุกสนาน ถ้าถูกจับกุมได้ก็จะมองเป็นเรื่องดวงไม่ดี แค่นั้น!!

นอกจากนี้ เด็กแว้นยังได้มีการให้ข้อมูลคณะผู้ศึกษาวิจัยไว้ถึง “วิธีหลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ” โดยจำแนกได้ 2 แบบ คือ… ใช้การ สืบหาข่าวและข้อมูลก่อนการปิดล้อมจับกุม โดยใช้คนรู้จักหรือลูกหลานเจ้าหน้าที่คอยให้ข้อมูลว่าวันใดจะมีการสกัดจับกุมหรือตำรวจจะ “ปิดกล่อง” ที่ใด โดยจะส่งข่าวกันทางโซเชียลมีเดีย หรือบนเพจ และวิธีหนีอีกแบบ… ใช้การ ส่งสัญญาณโดยกลุ่มแว้นกลุ่มต่าง ๆ ในพื้นที่ ซึ่งกลุ่มเด็กแว้นที่อยู่ต้น ๆ ทาง หรือที่เรียกว่า “คนอยู่ต้นสาย” จะคอยสังเกตความเคลื่อนไหวของตำรวจ หากเห็นผิดสังเกตก็จะ ใช้แตรรถให้สัญญาณกันเพื่อขี่รถหนี การจับกุม

ทั้งนี้ จากข้อมูลงานศึกษาวิจัยโดย ดร.สุรีย์พร นิพิฐวิทยา และคณะ ยังได้มีการชี้ถึง “ปัญหาแว้นในเมืองไทย” ไว้ โดยระบุไว้ว่า… “เป็นปัญหาเรื้อรังในสังคมไทย!!” ซึ่งที่ผ่านมาแม้เจ้าหน้าที่จะพยายาม “ปราบปราม-ป้องกันพฤติกรรมแว้น” แต่ก็ “ไม่ใช่เรื่องที่กระทำได้โดยง่าย” ซึ่งทางคณะวิจัยคณะนี้ก็ได้พยายาม “ถอดรหัสปัญหา” โดยที่… พบอุปสรรค ข้อจำกัด ที่เป็นปัจจัยทำให้การแก้ปัญหายังทำได้ไม่ดีนัก และนำสู่ “ข้อเสนอแนะ” ทั้งด้านนโยบาย และด้านปฏิบัติ…

ด้านนโยบาย โดยสรุปคือ…ควรจับกุมต่อเนื่องสม่ำเสมอ, ควรสนับสนุนอุปกรณ์ให้เจ้าหน้าที่อย่างเพียงพอ, ควรส่งเสริมการนำเทคโนโลยีทันสมัยมาใช้, ควรมีขั้นตอนปฏิบัติที่ชัดเจน, ควรมีงบประมาณด้านป้องกันความเสี่ยงให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติ, ควรฝึกทบทวนยุทธวิธีอย่างน้อยปีละครั้ง, ควรปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องสถานการณ์ปัจจุบัน รวมถึง ควรมีหน่วยปฏิบัติการพิเศษเข้ามาจัดการปัญหาโดยตรง และควรผลักดันให้ปัญหาแว้นเป็นวาระแห่งชาติ ด้วย

ด้านปฏิบัติ โดยสรุปคือ…ควรจัดทำคู่มือปฏิบัติที่ระบุขั้นตอนชัดเจนจากเบาไปหาหนัก, ควรดำเนินมาตรการเชิงรุก, ควรกำหนดให้ทุกภาคส่วนเข้าร่วมแก้ปัญหา เช่น กรรมาธิการสิทธิ นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา อัยการ ศาล เพื่อป้องกันความผิดอาญามาตรา 157 … เหล่านี้เป็นต้น โดยสรุปจาก “ข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาแว้น” ก่อนมีกระแส “แนวทางอัปเดต”

ก็น่าสนใจข้อเสนอ-แนวทางล่าสุด…

และก็ “น่าตามดูผลการแก้ปัญหา”

“ปิดฉากไทยแลนด์แดนแว้น??”.

คลิกอ่านบทความทั้งหมดได้ที่นี่