“ตอนนั้น…กับอาชีพนั้น…เรียกว่าเป็นความฝันของผมก็ได้ แต่พอทำไปสักพักหนึ่ง…เริ่มรู้ตัวว่าร่างกายเริ่มไม่ไหว…เหมือนอาชีพนั้นมันไม่ตอบโจทย์ชีวิตของเรา ผมก็เลยตัดสินใจลาออกมา เพื่อค้นหาเส้นทางชีวิตใหม่ของตัวเอง” เสียงหนุ่ม อดีตนักเทคนิคการแพทย์ ที่ปัจจุบัน ผันตัวมาเป็นพ่อค้าขนมเค้ก ที่ชื่อ “เบิร์ด-สงวนศักดิ์ ราภิยะ” วัย 37 ปี บอกเล่ากับ “ทีมวิถีชีวิต” ซึ่งหลังจากตัดสินใจทิ้งอาชีพเดิมเริ่มต้นก้าวสู่เส้นทางใหม่ เขาก็ค่อย ๆ ก่อร่างสร้างฝันใหม่ของตัวเองขึ้นทีละนิด…ทีละนิด… จนในที่สุดก็สามารถมีธุรกิจของตัวเองได้สำเร็จ โดยเส้นทางชีวิตของหนุ่มคนนี้ก็มีเรื่องราวน่าสนใจ ที่วันนี้เราจะไปทำความรู้จักกับเขากัน…

“เบิร์ด-สงวนศักดิ์” อดีตนักเทคนิคการแพทย์ ที่ปัจจุบันหันมาเป็นพ่อค้าขนมเค้ก และมีธุรกิจร้านคาเฟ่-เบเกอรี่ของตัวเองชื่อ “Deer Bunny” ที่มี 2 สาขา เล่าให้ “ทีมวิถีชีวิต” ฟังว่า ธุรกิจขนมนี้เปิดมาได้กว่า 13 ปีแล้ว โดยเขาเป็นคน จ.พะเยา คุณพ่อมีอาชีพรับราชการเป็นทหารพราน ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว โดยเหลือแต่ “คุณแม่คำ ราภิยะ” ซึ่งคุณแม่ของเขามีอาชีพเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยว ทั้งนี้ เบิร์ดบอกว่า เขาเรียนจบปริญญาตรี สาขาเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และหลังเรียนจบเขาก็มาหางานทำที่ จ.ระยอง เพราะมีญาติหลายคนอยู่ที่จังหวัดนี้ ซึ่งด้วยความที่เพิ่งเรียนจบใหม่ ๆ ทำให้เขาวาดฝันเอาไว้ว่าจะได้ทำงานในห้องแล็บของโรงพยาบาลตามที่ได้ร่ำเรียนมา เพราะตอนนั้นเขามองว่าอาชีพนี้ช่างเท่สุด ๆ

แล้วเขาก็ได้ทำงานที่โรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งดังที่หวังไว้ ได้เงินเดือนเริ่มต้น 12,000 บาท ซึ่งทุกวันเขาจะขี่มอเตอร์ไซค์ไปทำงานแต่เช้า เพราะที่ทำงานกับบ้านพักอยู่ห่างกันราว 20 กิโลเมตร และวันไหนที่ต้องอยู่เวรดึก ก็จะนอนพักที่โรงพยาบาล แต่ก็มักจะไม่ได้นอนเต็มที่ ถ้าต้องเข้าเวร เนื่องจากทุก ๆ 20-30 นาทีก็จะมีเคสส่งมาที่แล็บให้ตรวจตลอด โดยหลังจากที่ใช้ชีวิตกึ่งหลับกึ่งตื่นติดต่อกันยาวนาน ที่สุดก็ทำให้ร่ายกายทรุดโทรม จนทำให้ตัวเขาเป็นโรคไมเกรน และโรคกระเพาะอาหาร

“ทำอยู่ 6 เดือนก็ต้องลาออกหางานใหม่ ตอนนั้นผมดิ้นรนไปสอบใบประกอบอาชีพจนได้มา แล้วก็ได้เข้าทำงานโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง งานก็หนักพอ ๆ กับตอนอยู่โรงพยาบาลรัฐ ต่างกันตรงที่เงินเดือนสูงกว่านิดนึง ซึ่งที่เล่านี่ผมแค่ต้องการจะบอกว่า อยากให้คนทั่วไปเข้าใจหัวอกคนทำงานโรงพยาบาลว่าทั้งหนักทั้งเหนื่อย เรียกว่าใครที่จะทำงานนี้ได้ จะต้องอึด-ถึก-ทนมาก ซึ่งผมทำอยู่ 3-4 ปี ก็รู้สึกว่างานในห้องแล็บมันไม่ค่อยตอบโจทย์ชีวิต อาจเพราะนิสัยเราชอบพูดคุยพบปะผู้คน แต่งานนักเทคนิคการแพทย์ต้องทำงานอยู่แต่ในห้องแล็บ ไม่ได้เจอใครเลย จึงคิดได้ว่างานนี้ไม่เหมาะกับตัวเอง และตัดสินใจลาออกมาเป็นเซลล์ขายอุปกรณ์การแพทย์ที่ภาคอีสาน”

เค้กสัปเหร่อ

ส่วน “จุดเปลี่ยนชีวิตอีกรอบครั้งที่ 1” นั้น เบิร์ดบอกว่า เริ่มต้นจากมีโอกาสไปเรียนทำขนมเค้กกับเพื่อน โดยเพื่อนทำเค้กส่งขายร้านกาแฟ ซึ่งตอนถูกชวนไปเรียนยอมรับว่าไม่ได้คิดอะไร ไปเรียนเล่น ๆ เป็นเพื่อนของเพื่อนเท่านั้น แต่พอเรียนไป ก็ค่อย ๆ รู้สึกชอบการทำขนมและเบเกอรี่ จนทำให้นึกย้อนกลับไปสมัยตอนเด็ก ที่เป็นคนชอบงานศิลปะและงานฝีมือต่าง ๆ แต่พอโตมากลับเลือกเรียนสายวิทย์-คณิต ซึ่งต้องเรียนหนัก จึงไม่ค่อยได้วาดรูปมากนัก แต่ก็ไม่ทิ้ง โดยเลือกทำเป็นงานอดิเรก

“เค้กดำดง”

“พอได้ทำขนม ก็รู้เลยว่าเป็นสิ่งที่เราชอบ เพราะตอนเด็กช่วยแม่ทำขนมไทยและขายของ แล้วงานเบเกอรี่ที่เรียนกับเพื่อน ความรู้สึกมันตอบโจทย์เรา ทำแล้วมีความสุข แล้วเป็นงานที่ละเอียดอ่อนเหมือนกับตอนที่ทำงานห้องแล็บเลย เพราะต้องชั่งต้องตวงเหมือนกัน ทีนี้พอสนุกก็เลยไปเรียนกับเพื่อนอีกหลายคอร์ส ประมาณ 7-8 สูตร โดยตอนนั้นยังไม่ได้คิดจะต่อยอด เพราะตอนนั้นยังทำงานเป็นเซลล์ขายอุปกรณ์การแพทย์อยู่” เบิร์ดบอกเล่าเรื่องนี้

จนมาถึง “จุดเปลี่ยนชีวิตอีกรอบครั้งที่ 2” เกิดขึ้นเมื่อคุณพ่อของเบิร์ดเสีย คุณแม่ต้องอยู่คนเดียว ซึ่งอาชีพเซลล์ที่ทำอยู่เขาต้องวิ่งงานตลอด ทำให้นึกเป็นห่วงคุณแม่ ซึ่งเป็นครอบครัวเพียงคนเดียวที่เหลืออยู่ของเขา เขาจึงต้องเลือกระหว่างงานที่ใช่ แต่ไม่ได้อยู่กับแม่ กับงานอย่างอื่น ที่จะทำให้ได้ดูแลคุณแม่ ซึ่งที่สุดเขาก็เลือกอย่างหลัง จึงตัดสินใจลาออกจากงาน

“ตอนนั้นก็เลือกก็คิดอยู่นานว่าจะทำอาชีพอะไรดี ซึ่งพอพบว่าตัวเองชอบงานศิลปะและชอบทำขนม ประกอบกับมั่นใจในสูตรขนมที่ไปเรียนมา เพราะเห็นตัวอย่างจากเพื่อนที่ทำขายส่งให้ร้านกาแฟ ก็เลยเกิดไอเดียว่าน่าจะทำขายในระยองได้ จึงเริ่มทำขายจริงจัง โดยเอาไปเสนอขายตามร้านกาแฟในปั๊มน้ำมัน ซึ่งก็มีหลายร้านสนใจ แต่ก็มีอุปสรรคอยู่บ้าง เพราะบางร้านต้องทำเรื่องขออนุญาตบริษัทใหญ่ก่อน บางแห่งก็ต้องให้ผู้จัดการชิมก่อนว่ารสชาติกับคุณภาพผ่าน จึงจะมาวางขายในร้านได้ ก็สู้มาเรื่อย ๆ จนที่สุดก็มีร้านประจำที่ขนมได้เข้าไปวางขายราว 6-7 ร้าน ก็ถือว่าไปได้ดีทีเดียวในช่วงแรก ๆ ที่เริ่มต้น” เขาเล่าย้อนถึงเรื่องนี้

ต่อยอด “เปิดคอร์สสอน”

ก่อนจะบอกว่า หลังทำขนมส่งให้ร้านกาแฟไปสักพักก็เจอปัญหา เนื่องจากไม่ได้ขายขาดให้ร้านกาแฟ เป็นการฝากขาย จึงเกิดปัญหาอย่างเช่น บางร้านดูแลขนมไม่ดี ทำให้ขนมเสียและถูกตีกลับมายังร้านมากในแต่ละรอบ หรือบางร้านก็ขายขนมที่วางไว้ไม่หมด ทำให้ช่วงนั้นเขาจึงรู้สึกเหนื่อยขึ้นเรื่อย ๆ รู้สึกว่าทำแล้วไม่ได้อะไร เหมือนกินทุนไปเรื่อย ๆ จึงมีความคิดว่า ถ้ามีร้านขนมของตัวเองน่าจะดีกว่า แต่ตอนนั้นไม่มีทุนเหลือแล้ว เขาจึงต้องกลับไปทำงานประจำอีกครั้ง เพื่อสะสมทุนรอน

“ผมตัดสินใจกลับไปทำงานอีกครั้ง คราวนี้ทำตำแหน่งเจ้าหน้าที่การตลาดที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง โดยไม่ทำเต็มเวลา ทำเป็นงานพาร์ทไทม์ แล้วอาศัยหลังเลิกงานไปลงคอร์สเรียนทำเบเกอรี่ โดยเอาสูตรที่เรียนมาปรับปรุงพัฒนากับสูตรที่ค้นคว้าหาเพิ่มเติมจากตำราทำขนมและอินเทอร์เน็ต นำมาพลิกแพลงให้เป็นสูตรขนมของตัวเอง เพราะตั้งเป้าว่าจะเปิดร้านของตัวเอง ซึ่งหลังทำงาน 1 ปีก็เก็บเงินได้ก้อนหนึ่ง จึงนำมาลงทุนเปิดร้าน Deer Bunny เค้กโฮมเมด ซึ่งชื่อร้านมาจากปีเกิดของผมเอง โดยพอเปิดร้านปุ๊บกระแสตอบรับค่อนข้างดีมาก อีกทั้งขนมเค้กในร้านจะมีความเป็นแนวญี่ปุ่นที่ดูน่ารัก และพอเปิดเพจก็มีคนติดตามและมาเป็นลูกค้าเยอะขึ้นเรื่อย ๆ โชคดีที่ตอนที่เปิดร้าน ในระยองยังไม่ค่อยมีร้านสไตล์คาเฟ่เท่าไหร่ คู่แข่งจึงไม่เยอะ” เบิร์ดเล่าถึงร้านขนมของเขาร้านแรกในชีวิต

กับเพื่อน ๆ ที่เรียนเทคนิคการแพทย์

จากนั้นเขาได้ตัดสินใจเปิดสาขา 2 แถว ๆ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยมีเป้าหมายก็คือ เพื่อแบ็คอัพสาขาแรก ที่ตอนนั้นมีเหตุแทรกซ้อนที่ทำให้เขาคิดว่าอาจจะไปไม่รอด คือเนื่องจากสาขาแรกมีปัญหาจากโครงการทำถนนที่ผ่านร้าน ซึ่งกินเวลานานถึง 4 ปี เขาจึงวางแผนที่จะทำสาขา 2 ให้ใหญ่กว่าเดิม ซึ่งการจะขยายสาขา 2 นั้น ก็ไม่ได้ราบรื่น เพราะเป็นจังหวะที่โรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนระบาดหนัก ทำให้แผนขยายสาขาต้องชะงักไปกว่า 1 ปี

“พอขยายสาขาไม่ได้ก็ต้องพักตรงนั้นไว้ แต่ก็เป็นการบ้านที่ต้องกลับมาคิดต่อว่าจะทำยังไง เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่ช่วงนั้นต้อง WFH ถามว่าตอนนั้นเครียดไหม เครียดมาก ไม่รู้จะหาทางออกยังไง เพราะต้องแบกรับภาระทั้ง 2 สาขา อีกทั้งลงทุนไปเยอะ เพราะวางแผนว่าจะเปิดแบบฟูลออฟชั่น แต่ก็เปิดไม่ได้ จึงคิดว่าจะใช้สื่อโซเชียลให้เป็นประโยชน์ อีกอย่างตอนนั้นว่างและไม่รู้ว่าจะทำอะไร ผมก็เลยลงทุนซื้อกล้องมาถ่ายรูปเค้กที่ทำแล้วอัพโหลดขึ้นโซเชียล โดยเลือกเจาะกลุ่มเบเกอรี่ก่อน ปรากฏมีคนชอบผลงาน กดไลก์ให้ภาพของเราเป็นหมื่น ๆ คนเลย”

เบิร์ดบอกว่า พอเริ่มมีคนติดตามเฟชบุ๊คและเพจส่วนตัว เขาก็คิดว่าจะทำยังไงให้มีประโยชน์กับคนอื่น ๆ ที่เจอผลกระทบชีวิตแบบเดียวกันกับเขา หลายคนตกงาน และไม่สามารถกลับไปทำงานเดิมได้ เขาจึงนำสูตรขนมไปโพสต์แจกให้กับคนที่สนใจ ซึ่งเวลานั้นยังคิดแค่ว่าบางคนจะได้มีงานอดิเรก มีกิจกรรมทำคลายเครียด แต่ปรากฏว่าหลังโพสต์สูตรขนมแจกให้คนอื่นฟรี ๆ มีคนติดตาม เข้ามาชม และแชร์ต่อเยอะมาก ทำให้รู้สึกสนุก จึงโพสต์ต่อเรื่อย ๆ จนวันหนึ่งมีคนถามว่า อยากจะขอเรียนทำขนมกับเขา เขาพอจะเปิดคอร์สสอนให้ได้ไหม เขาก็เลยลองทำ “คอร์สสอนทำขนมออนไลน์” ขึ้น ซึ่งจากนั้นถึงวันนี้ก็เปิดสอนมาได้ 10 กว่าคอร์สแล้ว จนหลายคนเรียกชื่อเขาติดปากว่า “ครูเบิร์ด” …เขาบอกเล่าเรื่องนี้ไว้ด้วยน้ำเสียงภูมิใจ

ก่อนจากกัน หนุ่มอดีตนักเทคนิคการแพทย์ที่ผันตัวมาเป็นพ่อค้าเค้ก ที่ชื่อ “เบิร์ด-สงวนศักดิ์” บอกกับ “ทีมวิถีชีวิต” ว่า พอมาย้อนคิดดู “สิ่งที่ทำให้ประสบความสำเร็จคือ…การได้ทำสิ่งที่ตัวเองมีความสุข” ซึ่งเมื่อคนเราได้ทำสิ่งที่ชอบที่รัก จะไม่รู้สึกเบื่องานที่ทำอยู่เลย อีกทั้งยังอยากที่จะพัฒนาต่อยอดให้ดียิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ ด้วย ที่สำคัญการได้ทำในสิ่งที่ตัวเองหลงใหลจะมีผลอย่างมากในเวลาที่ต้องเจอกับอุปสรรค ปัญหา และความทุกข์… “ถ้าย้อนกลับไปได้ ผมก็อยากเลือกเรียนสิ่งที่รัก อยากเรียนจริง ๆ เพราะมันต่อยอดได้เร็ว ผมจึงบอกคนอื่น ๆ เสมอว่าอย่าฝืนเรียนหรืออย่าทำอะไรก็ตามที่ไม่มีความสุข เพราะเวลาเจอปัญหาเราจะไม่สู้ แต่ถ้าเป็นสิ่งที่เรารัก หลงใหล เวลาเจออุปสรรคเราจะสู้…สิ่งที่เรารักทำให้สู้…ทำให้เราไม่ท้อ”.

กับคุณแม่ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ

‘คุณแม่’ คือ ‘รากฐานความสำเร็จ’

“เบิร์ด-สงวนศักดิ์ ราภิยะ” บอกด้วยว่า “ทุกความสำเร็จมีคุณแม่อยู่เบื้องหลังตลอด” ทั้งช่วยจัดของ-แพ็คของ ช่วยล้าง และช่วยดูแลร้าน เรียกได้ว่าตอนนี้ชีวิตของเขาและคุณแม่อยู่ในจุดที่แฮปปี้ เพราะเขาเองก็มีอาชีพ มีธุรกิจ ส่วนคุณแม่ก็มีกิจกรรมทำในวัยเกษียณ แถมทำให้แม่ลูกได้อยู่ด้วยกัน และมีเวลาให้กันแบบเต็มที่อีกด้วย โดยเขาเล่าว่า เคยถามคุณแม่ว่า “คุณแม่รู้สึกยังไงกับอาชีพที่ทำอยู่” ซึ่งพอได้ฟังคำตอบของคุณแม่ ก็ทำให้เขายิ้มไม่หุบไปหลายวัน เพราะคุณแม่ตอบว่า “ดีใจและภูมิใจมาก” เพราะอย่างแรกเลยอาชีพนี้ช่วยปลดหนี้ให้คุณแม่ได้ แถมมีเงินให้คุณแม่ใช้จ่ายทุกเดือน สำหรับเขาจึงเรียกว่ามีความสุขกับชีวิตในตอนนี้มาก ยิ่งขนมเค้กที่พลิกแพลงครีเอทขึ้น เช่น เค้กหนังสัปเหร่อ เค้กดำดง หรือเค้กกะเพราไข่ดาว เป็น “กระแสไวรัลในโซเชียล” ก็ยิ่งดีใจ ส่วนอนาคตจากนี้นั้น เขาบอกว่า อาจมีการเพิ่มไลน์ผลิตเบเกอรี่อื่น ๆ นอกเหนือจากเค้ก สำหรับวางขายที่ร้านด้วย… “และผมตั้งใจไว้ว่า ในอนาคตอยากขยายแพลตฟอร์มให้คนได้รู้จักกว้างมากขึ้น เพราะอยากให้ความรักความชอบตรงนี้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างโอกาสให้กับคนอื่น ๆ ด้วย”.

เชาวลี ชุมขำ : รายงาน