ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541วันที่ 22 ต.ค. ถูกกำหนดให้เป็น “วันตระหนักรู้ถึงการพูดติดอ่างนานาชาติ” (International Stuttering Awareness Day) เพื่อกระตุ้นให้คนทั่วโลกตระหนักถึงปัญหาที่ผู้คนนับล้าน คิดเป็น 1 เปอร์เซ็นต์จากประชากรทั้งหมดที่มีปัญหาเรื่องการพูดหรือมีอาการติดอ่าง

โดย “อาการคนที่พูดติดอ่าง” จะมีอาการพูดไม่ทันความคิด พูดตะกุกตะกัก พูดไม่คล่อง ขาดความต่อเนื่องในการพูด มีการพูดซ้ำๆ มากกว่า 3 ครั้งขึ้นไป โดยเฉพาะเมื่อเริ่มต้นพูด ซึ่งการพูดติดอ่างสามารถพบได้ทุกวัยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ในเด็กอายุระหว่าง 2-6 ปี พบ 5% และเด็กชายเป็นมากกว่าเด็กหญิง 3-4 เท่า ซึ่งลักษณะการพูดไม่คล่องของเด็กในวัยนี้เป็นการพูดไม่คล่องแบบ normal dysfluency เป็นช่วงที่เด็กกำลังพัฒนาภาษาและการพูด การพูดติดอ่างในช่วงนี้จะเป็นแบบชั่วคราวและหายเองได้ใน 6 เดือน

สาเหตุ
ยังไม่มีสาเหตุที่แน่ชัดของการพูดติดอ่าง แต่มีปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพูดติดอ่าง ได้แก่

  • พันธุกรรม เด็กมากกว่า 70% ที่พูดติดอ่าง จะมีสมาชิกในครอบครัวเคยพูดติดอ่างมาก่อน
  • ทางระบบประสาทและสมอง สมองส่วนที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหว รวมถึงบริเวณที่ชื่อ Wernicke’s area ทำงานมากกว่าปกติ หรือในเด็กที่ได้รับการบาดเจ็บของสมอง ทำให้อวัยวะที่เกี่ยวกับการพูดขาดการประสานงานกัน หรือมีระดับของการสื่อประสาทที่ชื่อว่า dopamine มากกว่าคนปกติ
  • ด้านอารมณ์และจิตใจ นั่นคือ เด็กมีความเครียดหรือวิตกกังวล เช่น ย้ายบ้าน ย้ายโรงเรียน เป็นต้น
  • ด้านพัฒนาการและการเรียนรู้ เด็กอาจถูกผู้ใหญ่เร่งรัดให้พูดเร็วเกินกว่าความพร้อมทางภาษาของเด็กหรือการเรียนรู้ที่ผิด
  • ด้านสิ่งแวดล้อม การเลี้ยงดูที่ไม่ถูกต้องของครอบครัว เช่น ดุด่าเมื่อเด็กพูดไม่คล่อง ทำให้เด็กไม่กล้าพูด

แนวทางแก้ไข
ผู้ที่จะช่วยเหลือเรื่องการพูดติดอ่างได้ดีที่สุดก็คือพ่อแม่ หรือผู้เลี้ยงดู การแสดงออกของพ่อแม่ จะมีผลต่อความมั่นใจในการพูดของเด็ก โดยควร

  • เป็นแบบอย่างที่ดีในการพูด โดยพูดช้าๆ สั้นๆ ชัดเจน เมื่อพูดจบประโยคแล้ว ควรหยุดรอ 2-3 นาที แล้วค่อยเริ่มพูดประโยคใหม่
  • ลดการตั้งคำถาม
  • เป็นผู้ฟังที่ดี รอให้เด็กพูดจนจบ และไม่พูดแทรก
  • ให้เวลาและทำกิจกรรมร่วมกับเด็ก
  • ในขณะที่เด็กพูด ไม่แสดงสีหน้าท่าทางที่ทำให้เด็กไม่มั่นใจ เช่น จ้องหน้าหรือโมโห
  • แสดงความรัก เอาใจใส่และเข้าใจ
  • ไม่เปรียบเทียบความสามารถด้านการพูดกับเด็กที่โตกว่าหรือเด็กที่ปกติอื่นๆ
  • หลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ทำให้เด็กพูดติดอ่างมากขึ้น

ส่วนวัยผู้ใหญ่ การฝึกพูดจะช่วยให้ผู้ติดอ่างมีทัศนคติที่ดีต่อตนเอง ตระหนักถึงคุณค่าของตนเอง ยอมรับว่าตนเองพูดติดอ่าง รวมไปถึงไม่หลีกเลี่ยงสถานการณ์การพูดอีกด้วย..