ถึงแม้รัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม จะมีผลบังคับใช้แล้ว ท่ามกลางกระแสเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะในส่วนของภาคประชาชน สอดรับกับ “วันรัฐธรรมนูญ”  “ทีมข่าวการเมืองเดลินิวส์” จึงถือโอกาสนำเรื่องรัฐธรรมนูญมาสนทนากับ ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองเพื่อตีโจทย์รัฐธรรมนูญไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

โดย “ดร.เจษฎ์” เปิดฉากกล่าวว่า  พัฒนาการของรัฐธรรมนูญไทย พูดยากว่าได้มีพัฒนาการที่เป็นรูปธรรมหรือมีนัยสำคัญหรือไม่ แม้อาจจะมีการเปลี่ยนแปลง มีการแก้ไขเพิ่มเติม มีการเขียนสิ่งใหม่ ที่ทำให้มีผลเป็นการไปปรับหรือไปแก้อะไรบางอย่างในบริบททางการเมือง รวมไปถึงบริบทด้านอื่นๆ แต่รัฐธรรมนูญ โดยรวม โดยเฉพาะอบริบทที่เกี่ยวกับการเมืองโดยตรง เรื่องรัฐบาล เรื่องรัฐสภา ผมไม่กล้าระบุว่า เรามีพัฒนาการหรือมีการพัฒนา เพราะว่า 1.รัฐธรรมนูญบางฉบับเขียนไปข้างหน้า มีการนำสิ่งใหม่ที่ไม่เคยปรากฏในรัฐธรรมนูญฉบับไหนมาก่อนมาใส่เข้าไว้  อาจจะเป็นความหวังดี แต่อาจไม่ได้มองว่าความหวังดีนั้นในบริบทของการเมืองไทยจะเกิดผลดีหรือผลร้าย เหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 ที่หวังให้การเมืองไทยก้าวหน้า ท้ายที่สุดกลับกลายเป็นเครื่องมือที่ผู้แสวงหาผลประโยชน์สามารถใช้ได้เป็นอย่างดี และทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย ดังนั้นสิ่งที่ใส่เข้าไปในรัฐธรรมนูญทั้งหลาย เสมือนว่าไม่ได้พิจารณาบริบทของประเทศไทยโดยถ้วนถี่

2.ประชาชนมีโอกาสมามีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญน้อยมาก ที่มีโอกาสมีส่วนร่วมจริงๆ คือ รัฐธรรมนูญ 2540 และที่พอมีส่วนร่วมบ้างก็คือรัฐธรรมนูญฉบับ 2517 และ 3.รัฐธรรมนูญที่ผ่านมาทั้งหมดผูกโยงกับการปฏิวัติรัฐประหารอย่างแยกกันไม่ออก นับตั้งแต่ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว 2475 ซึ่งการที่คณะราษฎรก่อการต้องถือเป็นการปฏิวัติรัฐประหารครั้งแรก และรัฐธรรมนูญหลายฉบับเชื่อมโยงโดยตรงกับการปฏิวัติรัฐประหาร ยกเว้นรัฐธรรมนูญฉบับ 2540, ฉบับที่ 2 ปี 2475,  ฉบับ2489 และ ฉบับ 2517 ดังนั้นรัฐธรรมนูญหลายฉบับเชื่อมโยงโดยตรงกับการปฏิวัติรัฐประหารอย่างที่สลัดไม่หลุด

“กลายเป็นว่ารัฐธรรมนูญไทยมันสัมพันธ์โดยตรงกับการรัฐประหาร ทั้งนี้ทำให้การเมืองในระยะ 20 ปีแรก ทหารกับพลเรือนในคณะราษฎรแย่งอำนาจกัน โดยใช้รัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือ แต่พอหลังจากนั้นประมาณ 60 ปีให้หลัง กลายเป็นการแย้งอำนาจระหว่างทหารกับนักการเมือง แย่งกันไปมา โดยยึดโยงบริบทของการทุจริต เมื่อทหารปฏิวัติรัฐประหารก็จะอ้างว่านักการเมืองทุจริต ในขณะเดียวกันหากทหารอยู่ไปนานๆ นักการเมืองก็ลุกขึ้นมาบอกว่าทหารทุจริต ดังนั้นจึงกลายเป็นว่าบริบทรัฐธรรมนูญในระยะหลัง ถูกบีบให้เขียนเพื่อแก้ปัญหาการทุจริต โกงกิน ประพฤติมิชอบต่างๆ ในวงการเมือง”

สุดท้ายทำให้รัฐธรรมนูญกลายเป็นที่ต่อรองอำนาจ แต่ไม่ใช่ที่ต่อรองที่เหมาะสม เพราะทหารมักจะเขียนอำนาจตัวเองเข้าไป และยึดโยงอำนาจตัวเอง โดยเฉพาะฉบับ 2560 ชัดเจนมาก ทั้งการใช้วิธีให้มีคำถามประชามติเพิ่มเติม การให้มี ส.ว.มาเลือกนายกฯ การมียุทธศาสตร์ชาติที่เขียนในลักษณะที่ตัวเองได้เปรียบ ได้ประโยชน์ รวมทั้งเชื่อมโยงกับการปฏิรูปที่ไม่ไปไหนเลย ดังนั้นรัฐธรรมนูญผ่านมาทั้งหมด 20 ฉบับนี้ ผมไม่แน่ใจว่ารัฐธรรมนูญไทยพัฒนาประเทศหรือไม่ เพราะว่าลุ่มๆดอนๆมาโดยตลอด

@การเขียนรัฐธรรมนูญไทยในอนาคตควรจะเป็นไปอย่างไร

ต้องมีการเขียนรัฐธรรมนูญไทยแบบที่ไม่มีมาก่อนเลยนับตั้งแต่ 2475 จนถึงปัจจุบัน โดยทำความเข้าใจว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศไทย ควรจะเป็นอย่างไร ซึ่งตนคิดว่า มาถึงตอนนี้สิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อนต้องมาคุยกัน ว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทย คือ อะไร ถ้าจะเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาเพื่อกำหนดสิ่งต่างๆ ภายใต้ระบอบนี้  ทั้งเรื่องสถาบัน ทั้งเรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐบาล รัฐสภา เรื่องศาล เรื่ององค์กรอิสระ เรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชน จะต้องมีอย่างไรบ้าง

“เราจะสลัดทิ้งสิ่งที่มีอยู่เดิมของประเทศชาติบ้านเมืองเราไปไม่ได้ ฝรั่งเศสก็ไม่ได้ทำแบบนี้ เยอรมนี อังกฤษก็ไม่ได้ทำแบบนี้ เขาไม่ได้เปลี่ยนจากระบอบหนึ่งมาเป็นอีกระบอบหนึ่ง แล้วเขาทิ้งสิ่งเดิมที่เขาเคยมีอยู่ทั้งหมดตั้งแต่สมัยก่อร่างสร้างประเทศ ไม่ใช่ทิ้งหมดแล้วไม่เอามาใช้เลย ดังนั้นเรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องศึกษา และทำความเข้าใจว่าระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของประเทศไทยควรจะเป็นอย่างไร สิ่งต่างๆที่ผ่านมาขนบธรรมเนียม จารีต ประเพณี และวัฒนธรรม ต้องผสานจนเป็นรัฐธรรมนูญนิยมของไทย

และท้ายที่สุดต้องให้ประชาชนมามีส่วนร่วมในการยกร่างรัฐธรรมนูญร่วมกัน จะได้กลายเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นของไทยจริงๆ สักทีหนึ่ง ที่ประชาชนคนไทยได้มีส่วนร่วม ทั้งคนรุ่นใหม่ คนรุ่นเก่า คนคิดเหมือน คนคิดต่าง คนที่อยากปฏิรูปสถาบัน หรือคนที่ต้องการธำรงรักษาไว้ซึ่งสถาบัน จะมีพื้นที่คุยกันได้ จึงจะกลายเป็นว่ารัฐธรรมนูญมีบริบทเริ่มต้นของการพัฒนา หลังจากผ่านมา 80 กว่าปี หากเริ่มตรงนี้ได้ก็จะถือเป็นก้าวแรก”

นอกจากนั้นสิ่งที่ติดกับรัฐธรรมนูญไทยมาโดยตลอดคือทหาร ต้องบอกว่าทหารชั้นผู้ใหญ่บางคนทำให้รัฐธรรมนูญไทยวิปริตผิดเพี้ยน ทำให้ประชาธิปไตยไทยบิดเบือนมาโดยตลอด ท่านควรจะเลิก แล้วไปทำหน้าที่สำคัญของทหารคือการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หากเกิดวิกฤติควรเข้ามารักษาความสงบเรียบร้อยและจัดให้มีกลไกลที่ผ่านภาวะวิกฤติไป ไม่ใช่มาเขียนรัฐธรรมนูญ เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งอำนาจตัวเอง และเพื่อปลดล็อคในสิ่งที่ตัวเองทำที่ถือเป็นความผิด คือ การยึดอำนาจอธิปไตย แล้วเปลี่ยนกฎหมายที่จะค้ำคอคุณ แล้วถือว่าเป็นรัฐาธิปัตย์ อยู่เหนือกฎหมาย ซึ่งบริบทแบบนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้นและต้องหยุด อันที่จริงทหารควรเลิกยุ่งกับรัฐธรรมนูญ จะมาฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งๆขว้างๆแบบที่ผ่านมา เข้ามายุ่งเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญแบบที่ทำมาตลอดไม่ได้แล้ว

ส่วนนักการเมืองต้องพัฒนาเสียที กฎหมายเรื่องที่เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งหลาย ต้องเข้มงวดเด็ดขาด เอาจริงเอาจัง และต้องจัดการให้ได้ ไม่อย่างนั้นก็จะเป็นสิ่งที่ลากจูงรัฐธรรมนูญ และลากจูงประชาธิปไตยไทยต่อไปอีก

@ บริบทการเมืองขณะนี้ เอื้อให้ทุกฝ่ายมาร่วมสร้างรัฐธรรมนูญนิยมในแบบของไทยได้หรือไม่

ผมคิดว่าทำได้ บรรดาผู้คนที่ผลักดันให้เกิดการปฏิรูปสถาบันทั้งหลาย นักวิชาการ อดีตนักวิชาการ อดีต ส.ส.ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงคนรุ่นใหม่ที่ต้องการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปสถาบันต้องมานั่งคิดว่า ท่านไปไกลเกินกว่าที่จะคุยกับคนอื่นได้ไหม ทหารก็ต้องมาคิดย้อนว่าทำอะไรลงไป จนทำให้เกิดการต่อรองเหมือนยุคคณะราษฎรขึ้นและรุนแรงมากกว่าเดิม เพราะทหารปฏิวัติจนทำให้คนลุกขึ้นมาต่อรอง ดังนั้นทหารต้องถอย ส่วนนักการเมืองเองก็ต้องคิด หากยังไม่พัฒนา หากยังเป็นนักการเมืองโกงกิน ยังคงเป็นนักการเมืองที่เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตนมากกว่าผลประโยชน์ประเทศชาติ ก็ไปไม่รอด

“ดังนั้นทั้ง 3 ส่วนนี้ ต่างคนต่างต้องถอย แล้วจะหาจุดลงตัวร่วมกันได้ ทั้ง 3 ส่วนต้องเริ่มพร้อมๆกันและเริ่มไปด้วยกัน ถึงจะเป็นไปได้ แต่หากทั้ง 3 ส่วนนี้ไม่ทำก็อยู่กันแบบเดิมไปอีกร้อยปี”