ใครจะได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่?  ….เป็นคำถามที่เพื่อนคนหนึ่งจุดประเด็นขึ้นมาบนโต๊ะอาหารในช่วงค่ำวันหนึ่ง ซึ่งในช่วงวิกฤติโควิด พวกเราแทบไม่ได้มีโอกาสนั่งดื่มกินสังสรรค์พูดคุยกันเลย

วันนี้มี 4 คนที่ถูกพูดถึง 1.คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้สมัครอิสระ 2.ดร.เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ว่าที่ผู้สมัครพรรคประชาธิปัตย์ 3.คุณรสนา โตสิตระกูล ว่าที่ผู้สมัครอิสระ 4.พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.คนปัจจุบัน แม้ยังไม่ประกาศว่าจะลงสมัคร แต่ก็ถูกจับตาและพูดถึงไม่ขาดสาย

ใครจะเป็นผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่? ….ถ้าตอบแบบไม่ต้องคิดอะไรมาก เอาตามโพลหลายสำนักที่สำรวจมาหลายรอบ ก็ต้องชี้นิ้วไปที่ คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้สมัครอิสระ ดีกรีอดีต รมว.คมนาคม สมัยรัฐบาลพรรคเพื่อไทย เจ้าของฉายารัฐมนตรีที่แข็งแกร่งในปฐพี ว่าจะคว้าชัยชนะทิ้งห่างคู่แข่ง

แต่ที่น่าสนใจและแตกต่างไปคือ ผลสำรวจของซูเปอร์โพล รอบ 1 ที่ไปศึกษา 2 กลุ่มประชากรเป้าหมาย ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และกลุ่มเครือข่ายผู้นำชุมชนคน กทม. โดยสำรวจตัวอย่างประชาชนจากทั้ง 50 เขตของกรุงเทพมหานคร มากถึง 29,595 ตัวอย่าง และสุ่มตัวอย่างเครือข่ายแกนนำชุมชน จาก 2,016 ชุมชน 498 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 10-18 ธ.ค.64 ที่ผ่านมา จะเรียกว่า ผลยกแรก ก็ได้

ผลยกแรก ของซูเปอร์โพล ออกมาว่า คุณชัชชาติ ชนะแต่ไม่ขาด คะแนนนิยมสูสีกับ ดร.เอ้-สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ว่าที่ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ แบบที่ ดร.เอ้ ยังมีโอกาส เพราะหนทางดูจะยังอีกยาวไกล และเปิดตัวช้ากว่าคุณชัชชาติที่ออกสตาร์ตนำหน้าไปก่อนหลายช่วงตัว

ยิ่งถ้าไปดูคะแนนในแต่ละเขต ที่แยกให้เห็นว่าปัจจุบันพรรคการเมืองไหน มี ส.ส.ในเขตนั้น (ส.ส.กทม. มี 30 เขตเลือกตั้ง)  ซึ่งแม้ไม่มี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เลยสักคน เพราะสูญพันธุ์จากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา แต่คะแนนนิยมของ ดร.เอ้ กลับสูงแบบมีลุ้นแซงทางโค้งได้ และที่สำคัญที่สุดคือ คนส่วนใหญ่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกใครดี  ดังนั้นโอกาสยังเปิดกว้างอยู่

‘ชัชชาติ-สุชัชวีร์’สูสี โพลชี้คนกรุงอยากเลือกตั้ง แต่ส่วนใหญ่ยังไม่ตัดสินใจจะเลือกใครดี

ตอนนี้จึงบอกได้แค่ว่า 2 ตัวเต็งที่จะได้นั่งเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. หากมีการเลือกตั้ง คงหนีไม่พ้น “ชัชชาติ-สุชัชวีร์” เพราะถ้าดูโปรโฟล์ ก็โอเคทั้งคู่ โดดเด่น ราศีจับ มานั่งบริหารรับใช้คนเมืองหลวงได้ไม่มีปัญหา แต่ปัญหาจริงๆ คือจะได้เลือกตั้งกันเมื่อไหร่ คนกรุงเทพฯ เองก็อยากเลือกตั้งใจจะขาดอยู่แล้ว แม้จะอยู่ในช่วงโควิด แต่ประเทศชาติก็ต้องเดินหน้าต่อไป ไม่ใช่หยุดทุกอย่างลงเพียงเพราะกลัวโควิดกันไปหมด

ไปดูดีกรีการศึกษา คุณชัชชาติ จบปริญญาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา (เกียรตินิยมอันดับ 1) จากจุฬาฯ วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโครงสร้าง จาก Massachusetts Institute of Technology : MIT และวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ เออร์แบนา-แชมเปญจน์ สหรัฐ ด้วยทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ประจำปี 2530

ส่วน ดร.เอ้ เพิ่งลาออกจากตำแหน่งอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) มาหมาดๆ จบวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วิศวกรรมโยธา) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จบปริญญาโท นโยบายและเทคโนโลยี  จาก MIT และปริญญาโทอีกใบจาก วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (วิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม) The University of Wisconsin-Madison และปริญญาเอกวิศวกรรมศาสตร์ (วิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม) จาก MIT

ดร.เอ้ เป็นศาสตราจารย์ด้านการก่อสร้างใต้ดินและอุโมงค์คนแรกของไทยขณะอายุแค่ 37 ปี เป็นอธิการบดีที่อายุน้อยที่สุดในประเทศด้วยวัยเพียง 43 ปี และเป็น 1 ในทีมผู้สร้างรถไฟฟ้าใต้ดินเส้นแรกของไทย

แน่นอนทั้งคู่มีนโยบายดีๆ ที่จะเข็นออกมารับใช้คนกรุงเทพฯ และพัฒนาเมืองหลวงของไทยให้เจริญก้าวหน้า อย่างที่โชว์วิชั่นกันไปแล้ว แต่นั่นเป็นเรื่องปกติของคนที่อยากจะเข้ามารับใช้ประชาชน มีความมุ่งมั่น มีเจตนาดี และมีความหวัง แต่ที่ผ่านมานโยบายสวยหรูดูดีของผู้สมัครกี่ยุคกี่สมัยที่ได้รับโอกาสมานั่งบริหารกรุงเทพฯ ก็มีทั้งที่ทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง หรือไม่ทำตามสัญญาบ้าง เพราะหลายปัจจัย โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณ และที่สำคัญมากๆ อีกอันหนึ่งคือเรื่องการเมือง นี่แหละ ที่มีส่วนฉุดรั้งกรุงเทพมหานคร ไม่ให้เจริญก้าวหน้าอย่างที่ควรจะเป็น

ส่วนกลยุทธ์ในการหาเสียง เน้นใช้โซเชียลมีเดียเป็นหลักในการสื่อสาร กระจายข่าวสาร ประชาสัมพันธ์ และแจกแจงนโยบายไปยังผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ และลงพื้นที่พูดคุยกับลุงป้า น้า อา คุณตา คุณยาย ประชาชนในอีกวัยหนึ่ง เรียกว่า ลงพื้นที่ออกไปสำรวจพูดคุยกับประชาชนที่ไหน ก็เอามาลงโซเชียลมีเดีย หรือไลฟ์สดพูดคุยแสดงวิสัยทัศน์

แต่ในยุคไอทีที่เทคโนโลยีก้าวไปไกล  น่าจะมีอะไรที่มากกว่านั้น ถ้าใครก็ตามมี “นวัตกรรม” หรือ “เครื่องมือ” อะไรก็ตามที่สามารถรับรู้ปัญหา และความต้องการของประชาชนได้แบบทันท่วงที เพื่อจะแก้ปัญหาได้ตอบโจทย์ ตรงจุด รวดเร็วได้มากกว่าและโอเคกว่าแค่การลงพื้นที่อย่างเดียว จะช่วยให้กุมความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง ซึ่งทั้ง คุณชัชชาติ และ ดร.เอ้ ที่จบ MIT คงทราบดีอยู่แล้ว

การประกาศจะเดินให้ได้ 1,600,000 ก้าว ทั่วทุกพื้นที่กรุงเทพฯ ประมาณ 1,600 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็น 1.6 ล้านตาราง แสดงถึงความตั้งใจดี ตั้งใจจริง ของ ดร.เอ้ แต่จะดีกว่าไหมถ้าเรามีนวัตกรรมหรือเครื่องมือที่ว่า  

นอกจากนี้ ยังแสดงให้เห็นว่า เรานี่แหละคือคนของอนาคตที่ประชาชนจะฝากผีฝากไข้ ฝากอนาคตไว้ได้ ไม่ใช่ผู้นำหรือผู้บริหารที่ก้าวตามโลกยุคใหม่ไม่ทัน แต่ยังอยากนั่งอยู่ในอำนาจไปเรื่อยๆ

“ชัชชาติ หรือ ดร.เอ้ ใครก็ได้ที่ก้าวทันโลก และประชาชนฝากอนาคตไว้ได้” คือคำตอบสำหรับคำถามที่ว่า ใครจะได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่? บนโต๊ะอาหารค่ำในวันนั้น.

 คนเถรตรง