ต้อนรับปีใหม่พุทธศักราช 2565 ซึ่งตรงกับปีนักษัตรขาลหรือปีเสือ นำเรื่องราวน่ารู้ ข้อคิดคติจากสำนวนไทย สุภาษิต นิทานที่มีเสือเป็นสื่อบอกเล่า…

ผศ.ดร.อภิลักษณ์ เกษมผลกูล

เสือ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมซึ่งมีด้วยกันหลายชนิด แต่ที่คุ้นเคยเป็นที่รู้จักจะนึกถึงเสือโคร่ง เสือขนาดใหญ่ที่มีข้อมูลบอกเล่าถึงการเป็นนักล่าที่น่าเกรงขาม ทั้งมีความสำคัญชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ผืนป่าเสือยังเป็นสัญลักษณ์ของพละกำลัง ความองอาจ มีความนัยความหมายเปรียบถึงอำนาจ ฝากมุมมอง แง่คิด ถ่ายทอดคุณค่า

หากค้นจากสำนวนไทยที่เกี่ยวเนื่องกับเสือมีอยู่มาก ทั้งนี้ ผศ.ดร.อภิลักษณ์ เกษมผลกูล อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลให้ความรู้ พาค้นความนัยความหมาย เล่าเรื่องน่ารู้หลายมิติว่า ด้วยที่เป็นนักคติชนวิทยาจึงเสาะหานิทานสุภาษิต นิทานคติซึ่งในสังคมไทยมีนิทานเหล่านี้และโดยมากใช้สัตว์เล่าเรื่อง เดินเรื่องอย่างเช่น นิทานกระต่ายกับเต่า

เสือ ก็เช่นกัน เมื่อพิจารณา เสือที่ปรากฏอยู่ในนิทานหลายต่อหลายเรื่อง เสือจะเป็นสัญลักษณ์ของผู้มีอำนาจ ความน่าเกรงขาม แต่เสือมักไม่เท่าทันและมักพ่ายแพ้แก่ลิง เหมือนเป็นการเตือนสติ เตือนใจว่าแม้จะมีอำนาจ มีบารมี แต่อย่างไรก็ตามจะทำการใดต้องมีสติและปัญญา 

อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาไทย ผศ.ดร.อภิลักษณ์อธิบายเพิ่มอีกว่า คางคกกับเสือ เป็นนิทานเรื่องหนึ่งที่บอกเล่าให้เห็นภาพ โดยเรื่องมีอยู่ว่า มีคางคกตัวหนึ่งนอนหมอบอยู่ใต้ท่อนซุง เสือเดินผ่านไปเจอจึงถามคางคกว่าทำอะไรอยู่ คางคกอยากจะอวดเสือจึงบอกว่าแบกซุงเล่น ซึ่งเสือก็เชื่อสนิทใจ ทั้งคู่ได้พูดคุยและแข่งกันว่ายน้ำ โดยใครไปถึงอีกฝั่งหนึ่งก่อนจะเป็นผู้ชนะ

ขณะที่เสือเตรียมว่ายน้ำข้ามไป คางคกก็โดดลงไปงับหางเสือ เสือจึงสะบัดคางคกจึงไปถึงฝั่งก่อน เมื่อเสือว่ายน้ำมาถึง เห็นคางคกรออยู่จึงถามว่ามาถึงเมื่อไหร่ คางคกโอ้อวดว่ามานานแล้วและกินแพะหมดไปสองตัว เสือเมื่อเห็นท่าไม่ดีจึงวิ่งออกไปในป่าจนไปเจอกับลิง และเล่าเรื่องให้ฟังทั้งหมด

ลิงรู้ทันทีว่าเสือถูกคางคกหลอกจึงพากันไปหาคางคก ตลอดนิทานเสือยังคงถูกหลอก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแม้จะเป็นผู้ที่มีพละกำลัง น่าเกรงขาม แต่หากไม่มีสติปัญญาก็ไม่เป็นผลดี นิทานลักษณะนี้สัตว์เป็นสัญลักษณ์ เป็นวิธีสอนที่มีมาแต่โบราณ และนิทานใช่ว่าจะมีเพื่อสอนเด็ก ผู้ที่สนใจไม่ว่าจะเป็นผู้สูงวัย หรือหนุ่มสาวสามารถอ่าน ฟัง ได้รับประโยชน์จากนิทาน

“นิทานแบ่งประเภทได้หลากหลาย อย่างนิทานที่กล่าวถึงเป็นนิทานคติ ให้ข้อคิดซึ่งก็มีหลายแบบ อย่างเช่นนิทานอีสป นิทานอธิบายเหตุ เมื่อพูดถึงเสือในมิติอื่น ๆ ยังเห็นถึงเรื่องราวที่น่าสนใจ อย่างตำนานความเชื่อ เสือสมิงที่คนทั่วไปอาจเคยได้ยินกันมา มีสำนวน เสือในร่างสมัน ซึ่งสมัน เป็นกวางชนิดหนึ่ง นัยความหมายของสำนวนนี้หมายถึง คนที่ดูเรียบร้อยแต่แท้จริงแล้วน่ากลัว คนร้ายที่ปลอมมาในร่างคนดี

ในเรื่องเสือสมิงแสดงให้เห็นถึงอำนาจที่มีเหนือมนุษย์ ภูมิประเทศที่เป็นป่าทึบนำเรื่องราวของเสือ เตือนระวัง พูดถึงการป้องกันตัวเพราะมีอันตรายได้รอบด้าน ระมัดระวังในการเดินป่า เข้าไปในที่ที่แปลก ๆ เป็นอีกมิติหนึ่ง โดยมีเสือเชื่อมโยง มีนัยสำคัญ

มองในมิติสำนวนไทย สุภาษิตที่เกี่ยวกับเสือ จากที่กล่าวมีอยู่ไม่น้อย ผศ.ดร.อภิลักษณ์ ยกตัวอย่างอธิบายว่า หลายสำนวนอาจเคยได้ยินกันบ่อย ๆ และยังคงใช้ในปัจจุบัน และก็มีอีกไม่น้อยที่ไม่ได้นำมาใช้แล้ว อย่างเช่น น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า สำนวนนี้ยังคงใช้ ในแนวทางเดียวกันยังมี ป่าพึ่งเสือเรือพึ่งพาย หรือเสือมีเพราะป่าปก ป่ารกเพราะเสือยัง มีลักษณะของการพึ่งพาอาศัยกัน ถ้อยทีถ้อยอาศัย แสดงถึงสิ่งที่คู่กัน โดยเสือเป็นตัวแทนธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตที่ต้องเกื้อกูลกัน ฯลฯ 

นอกจากนี้ยังมีสำนวน เนื้อเข้าปากเสือ แสดงให้เห็นถึงคนที่ตกเป็นเหยื่อของผู้ที่มีอำนาจ บอกแสดงให้เห็นว่าตกอยู่ในสถานการณ์ใด ปล่อยเสือเข้าป่า ปล่อยปลาลงน้ำ อีกสำนวนที่น่าสนใจ มีความนัยความหมายให้โอกาสศัตรู และการให้โอกาสนั้นอาจกลับมาทำร้ายอีก โดยสำนวนนี้ไม่ได้มีความหมาย การให้อภัยแต่อย่างใด

เขียนเสือให้วัวกลัว อีกสำนวนที่ได้ยิน ได้ฟังบ่อยครั้ง เป็นเหมือนการสร้างกลไกบางอย่าง เป็นการทำอะไรบางอย่างเพื่อให้อีกฝ่ายเกรงกลัว อาจเป็นสิ่งที่มีอำนาจเหนือกว่า จับเสือมือเปล่า เป็นสำนวนที่ว่าทำอะไรสักอย่างโดยไม่ต้องลงทุน เป็นการตำหนิเล็ก ๆ ขณะที่ เสือนอนกิน มีความนัยความหมายการได้รับผลประโยชน์ โดยไม่ต้องลงทุน

เสือยังมีอีกหลายมุมมองที่น่าศึกษา อย่างสำนวนที่ว่า เลี้ยงลูกเสือลูกจระเข้ โดยธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นเสือหรือจระเข้เป็นสัตว์ที่มีความดุร้าย ชนิดหนึ่งเป็นเจ้าถิ่นบนบก อีกชนิดเป็นเจ้าถิ่นในน้ำ เป็นคำเปรียบ เลี้ยงลูกเสือหรือลูกจระเข้ เลี้ยงลูกศัตรูหรือลูกคนพาลจะได้รับความเดือดร้อน หรือ ไม่รู้จักเสือเอาเรือเข้ามาจอด ไม่รู้จักมอดเอาไม้เข้ามาขวาง หมายถึงทำสิ่งที่ไม่รู้ว่าจะมีภัยมาถึงตัว ฯลฯ

เสือทลายห้างช้างทลายโรง บอกเล่าถึงคนที่แสดงกิริยาเอะอะตึงตัง หรือ ให้เหยื่อเสือผอม การให้การอุปการะคนพาล เมื่อเขามีพละกำลังก็จะกลับมาทำร้ายผู้ที่ให้ความช่วยเหลือ นอกจากนี้เสือยังรวมถึงโจร ใช้เรียกคนเก่ง คนดุ การเรียนรู้สำนวนไทย สุภาษิตในมุมมองเป็นเรื่องที่มีความคลาสสิก ให้แง่คิดมุมมอง ทั้งเตือนสติได้ดี

“วิถีชีวิตไทยผูกพันอยู่กับธรรมชาติ เสือเป็นสัตว์ป่าที่รู้จัก คุ้นชินกันมาเนิ่นนาน มีหลากหลายเรื่องราวที่เกี่ยวเนื่องกับเสือ
ทั้งคุณลักษณะ ความเชื่อ ความงามอย่างลวดลายเสือส่งต่อการสร้างสรรค์ งานดีไซน์ ทั้งลวดลายเสือยังเป็นชุดเสื้อผ้าของฤาษี และลักษณะเสือที่มีความน่าเกรงขาม ความมีอำนาจยังนำมาเป็นสื่อ ใช้เป็นคำเรียก ฯลฯ โดยสิ่งเหล่านี้ มีจุดเริ่มต้นจากเสือ ให้เรียนรู้ สืบค้น”

สุภาษิตสำนวนไทย หรือแม้แต่นิทาน เป็นส่วนหนึ่งในการเตือนใจให้เราทบทวน อย่างเรื่องราวของ เสือกับลิง จากนิทานก็ใช่จะมีแต่ความหรรษา แม้เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นก็ให้แง่คิดสอนใจ เป็นกุศโลบายให้ทบทวน นำกลับมาพินิจพิเคราะห์ นำมาย้อนกลับมาพิจารณาตนเอง ทั้งนี้สัตว์ชนิดต่าง ๆ มีคาแรกเตอร์เป็นของตนเอง ไม่ว่าจะเป็น เต่า สื่อแทนความอดทน เสือ ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง เป็นสัญลักษณ์ที่นำมาศึกษา นำมาสอนใจ ทั้งนี้เรื่องราวของเสือมีอยู่รอบตัว ไม่ได้อยู่แต่ในป่า แต่ให้เป็นเสือที่เข้ามาอยู่ในใจ เข้าใจในสิ่งที่เสือบอกเล่า

“ถ้อยคำภาษาและเรื่องราวต่าง ๆ ที่แวดล้อม หากนำมาวิเคราะห์จะได้รับคติธรรม สำนวนไทยแม้จะเป็นถ้อยคำสั้น ๆ แต่มีความหมายชัดเจน สำนวนไทยอย่างไรจะยังคงอยู่ อาจจะไม่มีสำนวนยาก ๆ หรือยาว ๆ เหมือนเก่าก่อน อย่าง เสือซ่อนเล็บ เขียนเสือให้วัวกลัว หน้าเนื้อใจเสือ หนีเสือปะจระเข้ เป็นตัวอย่างหนึ่งของสำนวนไทยที่เกี่ยวกับเสือ ที่ยังคงใช้ โดยส่วนหนึ่งนี้เป็นสำนวนสุภาษิตที่เกี่ยวเนื่องกับเสือ

บอกเล่าเรื่องราว ให้คติ ฝากแง่คิดรับปีใหม่ “ปีขาล” ด้วยความสดใส องอาจ มีสติและมีพลังกาย พลังใจ.