เปรียบกับอายุคน “ถนนวิภาวดีรังสิต” ใกล้จะแซยิดอีกไม่กี่ปี หลังจากเริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2509 จนถึงปัจจุบันใช้งานกันมา 56 ปี แม้จะมีเส้นทางเดินรถถึง 10 ช่องจราจรในพื้นราบ ด้านบนของถนนวิภาวดีรังสิตยังมีทางยกระดับอุตราภิมุข หรือ ดอนเมืองโทลล์เวย์ เพื่อกระชับการเดินทางสู่สนามบินดอนเมือง

ในปี 2565 ถนนวิภาวดีฯ มีการเปลี่ยนโฉมบริเวณข้างทาง ด้วยการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง แม้ไม่ได้ประชิดคู่กับถนนวิภาวดีรังสิต แต่สถานีรถไฟฟ้าสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น สถานีวัดเสมียนนารี สถานีหลักสี่ และสถานีดอนเมือง มีสะพานลอยทางเดินข้ามถนนวิภาวดีรังสิต ข้ามถนนโลคัลโรด ทอดยาวเชื่อมถึงสถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง

ถนนวิภาวดีรังสิต หรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 31 (ดินแดง-ดอนเมือง) มีระยะทางรวม 23.510 กม. (กม.4+990-กม.28+500) มีแขวงทางหลวงกรุงเทพ สำนักงานทางหลวงที่ 13 เป็นหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบ ซึ่ง เส้นทางนี้เป็นทางหลวงแผ่นดินสายหลักที่เชื่อมต่อถนนในกรุงเทพฯ ไปสู่ภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

สองข้างถนนวิภาวดีรังสิตเจริญเติบโตขึ้นตามลำดับ มีการเพิ่มขึ้นของตึก อาคาร คอนโดมิเนียม โรงแรม ออฟฟิศสำนักงาน ขณะเดียวจำนวนรถบนถนนวิภาวดีรังสิต มีปริมาณเพิ่มขึ้นเช่นกัน ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีปริมาณการจราจรอยู่ที่ประมาณ 168,300 คันต่อวัน ขณะที่บนดอนเมืองโทลล์เวย์มีประมาณ 90,000 กว่าคันต่อวัน

เมื่อเกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง หรือมีปริมาณน้ำฝนสูงกว่าปกติ เช่น มากกว่า 100 มิลลิเมตร จะทำให้เกิดน้ำท่วมขัง และมีผลกระทบต่อการจราจรติดขัดบนถนนวิภาวดีรังสิตเป็นอย่างมาก

การบริหารจัดการน้ำของถนนวิภาวดีรังสิตเป็นระบบปิด จำเป็นต้องใช้สถานีสูบน้ำที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักการระบายน้ำ เป็นผู้ผลักดันน้ำออกจากถนนวิภาวดีรังสิต ผ่านระบบการสูบน้ำ และอุโมงค์ระบายน้ำลงคลองบางซื่อ คลองลาดยาว คลองบางเขน คลองวัดหลักสี่ เชื่อมต่อคลองเปรมประชากรไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า กรมทางหลวงได้ดำเนินตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ในการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ มิให้ท่วมขังบ้านเรือน ถนนหนทาง และปรับปรุงภูมิทัศน์ คู คลอง สองข้างทาง ให้สะอาด สวยงาม จึงจัดทำโครงการแก้ไขปัญหาการระบายน้ำบนถนนวิภาวดีรังสิตระยะเร่งด่วน เมื่อเดือน เม.ย. 2561 ภายใต้ชื่อ “โครงการพัฒนาคูน้ำริมถนนวิภาวดีรังสิต” แบ่งเป็น 3 ระยะ โดยระยะที่ 1 ใช้วงเงินงบประมาณ 296.70 ล้านบาท เพื่อจัดทำท่อลอดเชื่อมโยงระบบระบายน้ำสองฝั่งขาเข้าและขาออก เพิ่มประสิทธิภาพระบบระบายน้ำ คู คลอง ริมถนนวิภาวดีรังสิต โดยติดตั้งระบบเครื่องสูบน้ำ งานลอกท่อดูดเลนของท่อระบายน้ำเดิม งานขยายท่อทางเชื่อม และงานปรับปรุงผิวจราจร โครงการแล้วเสร็จเมื่อเดือน พ.ย.2562

ต่อมาเมื่อเดือน ก.ค.2562 จึงจัดทำ “โครงการพัฒนาคูน้ำริมถนนวิภาวดีรังสิต ระยะที่ 2” ระหว่าง กม.5+500-กม.30+300 ช่วงแยกดินแดง ถนนวิภาวดีรังสิต-คลองบึงทะเลสาบ ทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ระยะทางรวม 24.8 กม. วงเงินงบประมาณ 1,660.91 ล้านบาท

การก่อสร้างแบ่งดำเนินงาน 3 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 1 ระหว่าง กม.5+500-กม.10+700 ระยะทาง 5.200 กม. ช่วงแยกดินแดง-ห้าแยกลาดพร้าว ปัจจุบันมีความคืบหน้า 56.623% คาดว่าจะแล้วเสร็จ ก.ย.2565, ตอนที่ 2 ระหว่าง กม.10+700-กม.28+030 ระยะทาง 17.330 กม. ช่วงห้าแยกลาดพร้าว-อนุสรณ์สถานแห่งชาติ มีความคืบหน้า 62.844% คาดว่าจะแล้วเสร็จ ก.ย.2565 และ ตอนที่ 3 ระหว่าง กม.28+030-กม.30+300 ระยะทาง 2.270 กม. ช่วงอนุสรณ์สถานแห่งชาติ-คลองบึงทะเลสาบ ถนนพหลโยธิน มีความคืบหน้า 75.753% คาดว่าจะแล้วเสร็จ ส.ค.2565

ในตอนที่ 1 และตอนที่ 2 มีเป้าหมายที่จะเพิ่มประสิทธิภาพการรองรับปริมาณน้ำของคูน้ำริมถนนวิภาวดีรังสิต และเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำไปสู่สถานีสูบน้ำ รวมทั้งทำการปรับปรุงภูมิทัศน์ตลอดริมคูน้ำให้สวยงาม สร้างเส้นทางเดินเท้าริมคลอง มีไฟส่องสว่าง มีการรวบรวมน้ำเสียจากชุมชนมิให้ไหลลงสู่คูน้ำวิภาวดีรังสิต ก่อสร้างเส้นทางจักรยานตามแนวถนนวิภาวดีรังสิตด้านขาเข้า โดยมีจุดเริ่มต้นจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ไปยังโรงเรียนหอวัง ส่วนในตอนที่ 3 ได้ก่อสร้างดันท่อลอดระบายน้ำใต้ผิวจราจรของถนนพหลโยธิน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 1 เมตร ถึงขนาด 2 เมตร สำหรับรองรับปริมาณน้ำจากผิวจราจรและชุมชน เพื่อระบายน้ำลงสู่คลองบึงทะเลสาบ

อย่างไรก็ตามจากการดำเนินการ โครงการพัฒนาคูน้ำริมถนนวิภาวดีรังสิตทั้ง 2 ระยะ ยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ กรมทางหลวง จึงดำเนินการ “โครงการพัฒนาคูน้ำริมถนนวิภาวดีรังสิต ระยะที่ 3” โดยขอจัดสรรงบประมาณปี 2566 ในวงเงิน 950 ล้านบาท เพื่อให้การปรับปรุงคูน้ำริมถนนวิภาวดีรังสิตมีความครบถ้วนสมบูรณ์

เน้นย้ำว่าเมื่อโครงการพัฒนาคูน้ำริมถนนวิภาวดีรังสิตแล้วเสร็จครบทั้ง 3 ระยะ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำตามแนวคูน้ำ เพิ่มพื้นที่หน้าตัดการไหลของการระบายน้ำ โดยเฉพาะบริเวณใกล้กับสถานีสูบน้ำ ช่วยให้การระบายน้ำฝั่งขาเข้าและขาออกระบายได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยการเชื่อมโยงระบบระบายน้ำสองฝั่ง และส่งน้ำไปยังสถานีสูบน้ำ ใช้ระบบเครื่องสูบน้ำ (Pumping Station) และบ่อพัก (Sump Pump) ทำให้ท่อระบายน้ำตามแนวถนนทั้งทางหลักและทางขนาน ไม่มีโคลนเลน ขยะ หรือสิ่งปฏิกูล กีดขวางการระบายน้ำ

“ถนนวิภาวดีรังสิตจากเดิมที่ออกแบบ เพื่อรองรับการเดินทางทางรถยนต์อย่างเดียว เป็นการออกแบบเพื่อรองรับการเดินทางเชื่อมโยงระหว่างทางราง ทางบก และทางอากาศ เนื่องจากมีรถไฟฟ้าสายสีแดง สายสีชมพู สนามบินดอนเมือง มีทางเท้า ทางจักรยาน เพื่อให้พี่น้องประชาชนสัญจรได้อย่างสะดวก ปลอดภัย ที่สำคัญเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะแก้ปัญหาน้ำท่วมขังถนนวิภาวดีรังสิตได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนต่อไป”

————————————
คอลัมน์ มุมคนเมือง
โดย ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่ง