เมื่อวันที่ 27 ก.พ. นายอุตตม สาวนายน แกนนำพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อดีต รมว.คลัง กล่าวถึงกรณีพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ประกาศโยบายต่างๆ บนเวทีปราศรัย จ.นครราชสีมา เมื่อ 25 ก.พ.66 พบว่ามีหลายนโยบายทับซ้อนกับของพรรค พปชร. ว่า พรรค พปชร. ไม่ได้ซีเรียสในเรื่องนี้ โดยเฉพาะ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร. ซึ่งได้ประกาศชัดเจนก่อนหน้านี้ว่า อะไรที่เป็นประโยชน์กับพี่น้องประชาชนและประเทศชาติ พรรค พปชร. ยินดีให้การสนับสนุน ไม่ต้องการเอาชนะคะคานกันในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เพราะพี่น้องประชาชนและสื่อมวลชน ต่างรับทราบดีว่านโยบายต่างๆ มีขึ้นมาตั้งแต่เมื่อใด ใครเป็นคนคิดริเริ่มและผลักดันจนเป็นรูปธรรม เพียงแต่ในการบริหารราชการแผ่นดิน ทุกเรื่องจะต้องผ่านความเห็นชอบของ ครม. ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้า ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะหิ้วเอานโยบายเหล่านั้น ติดตัวไปอยู่พรรคอื่นด้วย

นายอุตตม กล่าวต่อไปว่าอย่างนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐก็แค่ย้อนกลับไปดูว่า โครงการฯ นี้ เปิดให้ผู้มีรายได้น้อยลงทะเบียนครั้งแรกในปี 59 ซึ่งขณะนั้นคนที่เข้ามาคุมนโยบายเศรษฐกิจให้รัฐบาล คสช. คือนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ ตั้งแต่กลางปี 58 ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ มอบหมายให้นายสมคิด กำกับดูแลหน่วยงานด้าน เศรษฐกิจและที่เกี่ยวข้อง 9 หน่วยงาน คือ กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการ พัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ขณะที่ตนและนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ก็เข้าร่วม ครม. ไปเป็นรัฐมนตรีคุมกระทรวงด้านเศรษฐกิจ ภายใต้การกำกับดูแลของนายสมคิด ซึ่งได้มีนโยบายต่างๆ ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เฉพาะแค่โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

เมื่อตนทำหน้าที่หัวหน้าพรรค พปชร. ผ่านการเลือกตั้งปี 62 แล้ว ส.ส. ทุกคนของพรรคพร้อมใจกันเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายสมคิดและพวกตนก็ยังร่วม ครม. คุม กระทรวงด้านเศรษฐกิจ เดินหน้าผลักดันนโยบายที่ริเริ่มเอาไว้อย่างต่อเนื่อง กระทั่งพวกตนลาออกจาก ครม. ในปี 63

“ย้อนดูไทม์ไลน์ช่วง 8 ปี ก็จะรู้ว่า ใครเป็นผู้ริเริ่มและผลักดันนโยบายเหล่านี้ แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ ถ้าพรรคไหนเห็นว่านโยบายของเราดี จะนำไปสานต่อ พรรคพลังประชารัฐ และ พล.อ.ประวิตร ก็ยินดีไม่ขัดข้องอะไร” นายอุตตม กล่าว

ขณะที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีต รมว.พลังงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า นโยบายต่างๆ เหล่านี้ เป็นการริเริ่มของนายสมคิด อดีตรองนายกรัฐมนตรี และพวกตน ตั้งแต่ช่วงรัฐบาล คสช. ต่อเนื่องมาถึงรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง จึงถือได้ว่าเป็นผลผลิตของพรรคพลังประชารัฐ ทั้งโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ รวมถึงโครงการเขตพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี (EEC)

“ขอเรียนย้ำว่า อย่างโครงการอีอีซี ก็มาจากแนวคิดของนายสมคิด และนายอุตตม ที่นำเสนอต่อรัฐบาล คสช. เพื่อพลิกฟื้นประเทศ แล้วเดินหน้าผลักดันต่อในนามพรรค พปชร. ถือเป็นโครงการหลักของ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ นอกจากจะพลิกฟื้นด้านการลงทุนแล้ว ยังยกระดับด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีของไทยให้ก้าวกระโดดสู่ไทยแลนด์ 4.0”

ส่วนการแก้ปัญหาที่ดินทำกินและการจัดการน้ำ ประชาชนทราบดีว่า พล.อ.ประวิตร เป็นผู้ขับเคลื่อนมาตลอด ดังที่ปรากฏข้อมูลผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ตลอดระยะเวลาที่ พล.อ.ประวิตร กำกับดูแลงานด้านน้ำได้ลงพื้นที่กว่า 79 ครั้ง ใน 55 จังหวัด ประชาชนได้รับประโยชน์โดยตรงในหลายเรื่อง เช่น มีการเพิ่มประสิทธิภาพประปาหมู่บ้าน มีการพัฒนาแหล่งน้ำผิวดินให้สามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้น พัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตร ประชาชนได้รับประโยชน์จากน้ำอุปโภคบริโภคและการเกษตรถึง 1.33 ล้านครัวเรือน ในช่วงใกล้เลือกตั้งนี้ ตนคิดว่าคนที่คิดและคนลงมือทำ จะเข้าใจและผลักดันให้เกิดขึ้นจริงประชาชนได้ประโยชน์จริง มากกว่าการสั่งการตามหน้าที่

นายสนธิรัตน์ กล่าวด้วยว่า จริงๆ แล้วพรรค พปชร. ไม่คิดว่าจะต้อง มาตอบโต้หรือช่วงชิงว่าใครเป็นเจ้าของนโยบาย เพราะทุกพรรคที่ร่วมรัฐบาล ต่างก็ถือว่ามีส่วนร่วมกับทุกนโยบายที่ผ่านมติ ครม. แต่ในเมื่อสังคมเกิดความกังขา และเมื่อสื่อสอบถามมา เราก็พร้อมจะไล่เรียงเพื่อให้เกิดความชัดเจน