เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 3 มี.ค. พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ คล้ายคลึง ผบก.สอท.1 พร้อมด้วย พ.ต.อ.ทำนุรัฐ คงมั่น รอง ผบก.สอท.1 ร่วมกันจับกุมนายเอ (นามสมมุติ) อายุ 42 ปี ชาว จ.ปัตตานี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ที่ จ.597/2566 ลงวันที่ 1 มี.ค. 66 ความผิดฐาน “โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือน หรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง , ปลอมเอกสารสิทธิ , ใช้หรืออ้างเอกสารปลอม และฉ้อโกง” โดนจับได้ที่สภ.ปัตตานี

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 13 ก.พ. ผู้ต้องหาได้ใช้บัญชีเฟซบุ๊ก ทักมาขอซื้อมะม่วงในเพจเฟซบุ๊ก ชื่อเพจ “เกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่มะม่วงอำเภอบางคล้า” จำนวน 2 ครั้ง ครั้งแรกสั่งซื้อจำนวน 5 กก. ราคา 449 บาท ครั้งที่สองจำนวน 9 กก. ราคา 729 บาท รวมเป็นเงิน 1,178 บาท จากนั้น ผู้ต้องหาได้ส่งสลิปการโอนเงินของธนาคารกรุงเทพ เข้าบัญชีธนาคารผู้เสียหาย พร้อมส่งรูปสลิปดังกล่าวมาให้ผู้เสียหาย หลังจากนั้นได้แจ้งขอยกเลิกออเดอร์มะม่วง 9 กก. เนื่องจากเพื่อนไม่สะดวกรับ และขอให้โอนเงินคืน ไปยังบัญชีชื่อผู้ต้องหา ผู้เสียหายหลงเชื่อทำการโอนเงินกลับไปให้ ส่วนออเดอร์ 5 กก. ให้จัดส่งไปยังที่อยู่ตามที่ผู้ต้องหาใน ต.รุสะมีแล อ.เมืองปัตตานี จ.ปัตตานี

ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ก.พ. ผู้ต้องหาได้ทักข้อความเพื่อขอยกเลิกการสั่งมะม่วงจำนวน 5 กก.ที่เหลืออยู่ โดยอ้างว่าจะเดินทางไปต่างประเทศไม่สะดวกที่จะรับสินค้า และขอให้โอนเงินคืน ผู้เสียหายจึงโอนเงินดังกล่าวไป ซึ่งต่อมาผู้เสียหาย เริ่มรู้สึกแปลกใจกับการยกเลิกออเดอร์ดังกล่าว จึงได้เช็ค QR Code ในสลิปโอนเงิน ที่ลงวันที่ 13 ก.พ. จำนวนเงิน 1,178 บาท พบว่าในระบบขึ้นเป็นสลิปโอนเงินจำนวน 0.01 บาท ผู้เสียหายจึงได้แจ้งความผ่านระบบแจ้งความออนไลน์ www.thaipoliceonline.com ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเดินทางเข้าให้ปากคำต่อ พนักงานสอบสวน กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 1 กระทั่งพนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานจนสามารถขออนุมัติออกหมายจับและติดตามจับกุมตัวได้

นายเอ ยอมรับสารภาพว่า มีอาชีพขายเสื้อผ้าตามตลาดนัด ที่ผ่านมาเคยแก้ไขสลิปเพื่อเติมเงินเล่นเกมส์ออนไลน์ แต่ก็ไม่เคยได้เพราะถูกจับได้ตลอด จึงหันมาหลอกร้านค้าออนไลน์แทน โดนทำแบบนี้มาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกร้านเสื้อแต่เขาจับได้เลยไม่ได้เงิน ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 โดยตนเองจะนำสลิปของไอแบงค์กิ้งมาประกอบแต่งยอดเงินและชื่อผู้รับโอน ซึ่งที่ผ่านมาตนจะเน้นเฉพาะของธนาคารกรุงเทพ เพราะพื้นหลังจะไม่มีลาย แต่ธนาคารอื่นมีลายจึงทำให้แก้ไขยาก

ด้านนางเทวารักษ์ ฉิมไทยอายุ 42 ปี เจ้าของเพจ “เกษตรกรกลุ่มแปลงใหญ่มะม่วงอำเภอบางคล้า” กล่าวว่า เพจของตนเป็นการรวมกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกมะม่วงใน อ.บางคล้า เพื่อเป็นช่องทางในการขายสินค้าในโซเชียล ช่วงโควิดจนถึงปัจจุบัน ที่ผ่านมาเคยถูกมิจฉาชีพเข้ามาหลอกสมาชิกผู้ค้าในลักษณะนี้มาแล้วครั้งนึง แล้วก็เงียบหายไปจนมีคนร้ายรายนี้เข้ามาก่อเหตุ ยอมรับว่าตนเองผิดพลาดที่ไม่ได้เช็คการโอนเงินก่อน แต่ด้วยเราไม่คิดว่าเขาจะส่งสลิปปลอมเข้ามาอีกทั้งเราเองก็ต้องการรักษาลูกค้าไว้ จึงไม่ได้มีการตรวจสอบก่อน ฝากไปยังผู้ประกอบการให้ตรวจสอบการโอนเงินว่ามีการโอนมาจริงมั้ย ก่อนส่งสินค้าหรือคืนเงิน หรือถ้าให้ดีสมัครการแจ้งเตือนเบินเข้ากับธนาคาร เพื่อลดช่องว่างของมิจฉาชีพที่จะมาหลอก

พล.ต.ต.ชัชปัณฑกาณฑ์ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวคนร้ายตั้งใจใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการหลอกลวงประชาชนที่ทำมาหากินโดยสุจริต โดยการใช้เอกสารสลิปโอนเงินปลอมไปหลอกลวงผ่านทางบัญชีเฟซบุ๊ก เป็นการทำลายความเชื่อมั่นของประชาชน เกิดความระแวงไม่ไว้ใจในการทำธุรกรรมใดๆ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีมิจฉาชีพที่มีพฤติกรรมที่ตั้งใจจะหลอกลวง ฉ้อโกงประชาชนอยู่เป็นจำนวนมาก ทุกรูปแบบ อาทิ สั่งซื้อของไม่ได้ของ สั่งซื้อของแล้วไม่ได้ตามปก หลอกชักชวนให้ลงทุนต่างๆ ฯลฯ ซึ่งมีผู้เสียหายจำนวนมาก โดยผู้เสียหายได้มีการแจ้งความผ่านระบบแจ้งความออนไลน์ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ www.thaipoliceonline.com ทำให้ประชาชนเกิดความสะดวกในการแจ้งความร้องทุกข์ และเจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้เร่งรัดติดตามจับกุมคนร้ายมาดำเนินคดีได้โดยรวดเร็ว.