จากกรณีมีการยื่นคำร้องต่อ กกต. ขอให้ตรวจสอบว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ผู้สมัคร ส.ส. และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกล มีลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ เนื่องจากมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) 42,000 หุ้น จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคมออนไลน์นั้น
-‘เรืองไกร’ ยื่นกกต.เช็กบิล ‘พิธา’ ปมถือครองหุ้นสื่อ-อาจซ้ำรอย ‘ธนาธร’

เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 พ.ค. นายอนุพงษ์ ไชยฤทธิ์ รองผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส ด้านปฏิบัติการและเทคโนโลยี ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า “สรุปสาระสำคัญของบริษัทไอทีวี จากรายงานประจำปี 2565”

1.หยุดประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ตั้งแต่ 24.00 น. วันที่ 7 มีนาคม 2550 สืบเนื่องจากการบอกเลิกสัญญาร่วมงานของสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
2.ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย delist ถอดหุ้นไอทีวีจากการซื้อขายตั้งแต่วันที่ 24 ก.ค. 2557

3.ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการฟ้องร้องพิพาททางกฎหมายกับสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สืบเนื่องจากกรณีที่อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดว่า
– การบอกเลิกสัญญาของ สปน. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
– ให้ สปน. ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 2,890 ล้านบาท
3.1 ต่อมา สปน. ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งศาลปกครองมีคำสั่งยกคำร้องของ สปน.
3.2 มกราคม 2564 สปน. ยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลปกครองกลาง ต่อศาลปกครองสูงสุด คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา

4.ปีบัญชี 2565 ไอทีวี มีรายได้จากการลงทุนและดอกเบี้ยรับ 20.5 ล้านบาท (ผลตอบแทนจากตราสารหนี้และตราสารทุน) กำไรสุทธิ 8.5 ล้านบาท
5.ไอทีวี มีบริษัทย่อย 1 บริษัท คือ บ.อาร์ตแวร์มีเดีย ให้เช่าอุปกรณ์ผลิตรายการวิทยุโทรทัศน์ ผลิตรายการโทรทัศน์ ซื้อขายลิขสิทธิ์ภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ และกิจกรรมการตลาดอื่นๆ สถานะปัจจุบันของบริษัท คือ หยุดประกอบกิจการ

6.กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ที่โดยพฤติการณ์มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายและการดำเนินงาน บ.ไอทีวี ในปัจจุบัน คือ บ.อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)
7.การรักษาสถานะความเป็นนิติบุคคลของ บ.ไอทีวี เพื่อดำเนินการฟ้องร้องกับ สปน. (ความเห็นผู้เขียน)
หมายเหตุ ข้อ 7 เป็นความเห็นส่วนตัว / ส่วนข้อ 1-6 เป็นข้อมูลจากรายงานประจำปี 2565 ของ ITV..

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @Anupong Chaiyariti