สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงกาฐมาณฑุ ประเทศเนปาล เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ว่า รายงานของศูนย์นานาชาติเพื่อการพัฒนาภูเขาแบบบูรณาการ หรือไอซิมอด (ICIMOD) ซึ่งตั้งอยู่ในเนปาล ระบุว่า ธารน้ำแข็งบนเทือกเขาหิมาลัย ละลายเร็วขึ้น 65% ระหว่างปี 2554-2564 เมื่อเทียบกับช่วงทศวรรษก่อนหน้า และจากแนวโน้มของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในตอนนี้ ธารน้ำแข็งดังกล่าวอาจหายไปมากถึง 80% ของปริมาณในปัจจุบัน ภายในสิ้นศษวรรษนี้ด้วย

“เมื่ออากาศอุ่นขึ้น น้ำแข็งจะละลาย ซึ่งมันเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ แต่สิ่งที่คาดไม่ถึงและน่ากังวลอย่างยิ่ง คือ มันละลายเร็วกว่าที่พวกเราคิดไว้มาก” นายฟิลิปปัส เวสเตอร์ ผู้เขียนนำของงานศึกษา กล่าว

ทั้งนี้ ธารน้ำแข็งในภูมิภาคเทือกเขาฮินดูกูช หล่อเลี้ยงระบบแม่น้ำที่สำคัญที่สุดในโลก 10 สาย เช่น แม่น้ำคงคา และแม่น้ำสินธุ อีกทั้งยังเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่ให้อาหาร, พลังงาน, อากาศที่สะอาด และสร้างรายได้แก่ประชากรราว 240 ล้านคนในพื้นที่ภูเขา เช่นเดียวกับผู้คนอีกประมาณ 1,650 ล้านคน ที่อาศัยอยู่ในหุบเขาแม่น้ำด้านล่าง

“เนื่องจากประชากรราว 2,000 ล้านคนในทวีปเอเชีย ต้องพึ่งพาน้ำจากธารน้ำแข็งและหิมะบนเทือกเขา ผลที่ตามมาของการสูญเสียหิมะภาค จึงกว้างใหญ่เกินกว่าที่จะยอมรับได้” นางอิซาเบลลา โคซิเอลล์ รองหัวหน้าของไอซิมอด กล่าว

แม้จะมีความพยายามในการจำกัดอุณหภูมิของโลกไว้ที่ 1.5-2 องศาเซลเซียส เหนือระดับอุณหภูมิก่อนยุคอุตสาหกรรม ตามข้อตกลงปารีส ฉบับปี 2558 แต่รายงานของไอซิมอดคาดการณ์ว่า ธารน้ำแข็งเหล่านั้นจะละลายหายไป 33-50% ของปริมาณเดิม ภายในปี 2643

“มันเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการดำเนินการด้านสภาพอากาศอย่างเร่งด่วน” เวสเตอร์ กล่าว “ทุก ๆ การเพิ่มขึ้นทีละเล็กน้อย จะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวง และพวกเราจำเป็นต้องดำเนินการเพื่อบรรเทาปัญหาสภาพอากาศจริง ๆ”.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES