เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ที่สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ พล.ต.ต.สุพิไชย ลิ่มศิวะวงศ์ ผู้บังคับการสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ กล่าวถึงความคืบหน้าคดีฆาตกรรมนายฮันส์ ปีเตอร์ แรลเตอร์ มัค (MR.HANS PETER RALTER MACK) หรือ ฮันส์ ปีเตอร์ อายุ 62 ปี นักธุรกิจเยอรมัน ถูกฆาตกรรมยัดตู้แช่ปิดด้วยผ้าเทปอย่างแน่นหนา ภายในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ต.หนองปรือ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ซึ่งตำรวจได้ส่งชิ้นส่วนร่างกายที่ถูกหั่นชำแหละแยกชิ้นส่วนส่งมาตรวจชันสูตรพลิกศพยังสถาบันนิติเวช เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมาว่า

วานนี้ทางพนักงานสอบสวนได้ส่งร่างของนายฮันส์ ปีเตอร์ แรลเตอร์ มัค หรือ ฮันส์ ปีเตอร์ มาตรวจชันสูตรพลิกศพ โดยในขั้นตอนมาตรฐานของทางนิติเวชจะมีการผ่าพิสูจน์โดยละเอียด เพื่อหาสาเหตุการเสียชีวิตและมีการเก็บวัตถุพยาน เก็บดีเอ็นเอ ส่งตรวจเพื่อหาสารพิษหรือยาจากเนื้อเยื่อ อาหารในกระเพาะ ปัสสาวะ ซึ่งในรายนี้ ขั้นตอนอาจจะต้องใช้เวลาในการดูชิ้นเนื้อในกล้องจุลทรรศน์ คาดว่าใช้เวลาไม่เกิน 30 วัน ส่วนการตรวจหาสารพิษและดีเอ็นเอ เบื้องต้นใช้เวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์

สรุปไทม์ไลน์คดีอุ้มฆ่าหั่นศพ “ฮันส์ ปีเตอร์”หลังหายตัวปริศนา5วัน

พล.ต.ต.สุพิไชย กล่าวต่อว่า ชิ้นส่วนร่างกายที่ส่งมาตรวจชันสูตรมีทั้งหมด 11 ชิ้น สอดคล้องกับที่พนักงานสอบสวนให้ข้อมูลมา ระบุได้ว่าศพถูกแช่แข็งไว้ไม่เปลี่ยนสภาพ หน้าตายังสามารถจำได้อยู่ ซึ่งพนักงานสอบสวนได้เก็บลายพิมพ์นิ้วมือไปตรวจเปรียบเทียบตัวบุคคลแล้ว สามารถยืนยันว่าเป็นนายฮันส์ ปีเตอร์ แรลเตอร์ มัค หรือ ฮันส์ ปีเตอร์ ทั้งนี้ยังต้องรอผลตรวจทางห้องปฏิบัติการเรื่องสารเสพติดต่างๆ ซึ่งต้องนำมาประกอบการให้ความเห็นสาเหตุการตาย

ผู้สื่อข่าวถามถึงรอยหั่นจะสอดคล้องกับอุปกรณ์ที่เจอ ซึ่งเป็นเลื่อยไฟฟ้าที่พบในที่เกิดเหตุหรือไม่ พล.ต.ต.สุพิไชย กล่าวว่า “ขอบของบาดแผลที่หั่น รวมถึงกระดูกและเนื้อเยื่อต่างๆ เรียบ ถ้าหากเป็นเลื่อย ผมไม่แน่ใจเรื่องวัตถุพยาน แต่เลื่อยบางชนิดสามารถทำให้เกิดได้ ทั้งนี้ชิ้นส่วนร่างกายพบว่าถูกหั่นแยกเป็นชิ้นส่วน หลังจากผ่านการแช่จนแข็งแล้วนำมาหั่น ซึ่งมีความเป็นไปได้สอดคล้องกับการที่ไม่พบรอยเลือดในที่เกิดเหตุ หากเทียบเคียงกับคดีเก่าฆ่าชาวสเปนในลักษณะพฤติการณ์ในการนำศพไปแช่แข็ง มองว่าวัตถุประสงค์เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือเพื่อทำให้เกิดหลักฐานหรือวัตถุพยานน้อยที่สุด”

พล.ต.ต.สุพิไชย กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบบาดแผลที่เกิดก่อนการเสียชีวิต เป็นบาดแผลฟกช้ำเล็กน้อยตามใบหน้า แขน ขา ซึ่งสาเหตุการตายที่เกิดจากบาดแผลยังไม่เจอ ฉะนั้นยังต้องรอผลการตรวจจากห้องปฏิบัติการ บาดแผลที่ปรากฏที่เป็นบาดแผลก่อนตายพวกฟกช้ำถลอก ไม่สามารถทำให้ถึงตายได้ และนายฮันส์ ปีเตอร์ แรลเตอร์ มัค หรือ ฮันส์ ปีเตอร์ เสียชีวิตก่อนนำศพไปแช่ เพราะแผลการตัดเป็นบาดแผลที่เกิดหลังตาย ทั้งนี้ยังไม่เจอเหตุการณ์เสียชีวิตที่ชัดเจนเพียงพอที่จะบอก จึงยังต้องรอผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการต่อไป

เมื่อถามถึงการตรวจหาดีเอ็นเอของบุคคลอื่นจะใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบกี่วัน พล.ต.ต.สุพิไชย กล่าวว่า เป็นส่วนของทาง พฐ. ที่เก็บรอยนิ้วมือ ดีเอ็นเอในที่เกิดเหตุ