จากพลังงานฟอสซิล ไปสู่พลังงานที่สะอาด ที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซคาร์บอนได ออกไซด์ ต้นเหตุสำคัญของการเกิดภาวะโลกร้อน ซึ่งปัจจุบันนี้ถือเป็นช่วงยุคต้นของการเปลี่ยนผ่าน จึงเป็นความท้าทายของการกำกับดูแล เช่น การบริหารต้นทุนการผลิตที่ยังสูงกว่า ต้องบริหารให้ราคาอยู่ในระดับที่เหมาะสม รวมทั้งปริมาณการผลิต ทำอย่างไรให้มีเสถียรภาพความมั่นคง

จากประเด็นความท้าทายในการกำกับดูแลด้านพลังงาน หน่วยงานกำกับที่สำคัญอย่าง สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) โดย “คมกฤช ตันตระวาณิชย์” เลขาธิการสำนักงาน กกพ. ยอมรับว่า ทิศทางการกำกับดูแลพลังงานต่อไปจะยากขึ้น ความท้าทายในการกำกับดูแลกิจการพลังงานในระยะต่อไป ต้องสร้างความมั่นคง และมีเสถียรภาพทางด้านพลังงานที่สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสามารถบรรลุเป้าหมายทำให้ภาคพลังงานรับใช้ประชาชนผู้ใช้พลังงานด้วยการพัฒนาสังคม ยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีให้กับประชาชน เพิ่มโอกาสการเข้าถึงพลังงานสะอาดของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยรวมของประเทศ และสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

รักษาอุณหภูมิโลกเพิ่มไม่เกิน 1.5 องศาฯ

“การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Energy Transition) มีเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อจำกัดอุณหภูมิของโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ขณะนี้ประชากรโลกให้ความสำคัญกับสภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นภัยคุกคามหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้น จึงร่วมกันตั้งเป้าหมายที่จะลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกให้มีความชัดเจนมากขึ้น เช่น ประเทศไทยมีเป้าหมายการเข้าสู่สังคม Carbon Neutral ในปี 2050 และเข้าสู่สังคม Net Zero Emission ในปี 2065”

นอกจากนี้ยังเริ่มมีมาตรการหรือกลไกเชิงบังคับ เช่น มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป หรือซีแบม เพื่อให้ทุกประเทศร่วมกันใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดสภาวะโลกร้อนให้เป็นไปตามเป้าหมายอย่างจริงจัง และยังต้องคำนึงถึงนโยบายการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมให้สามารถใช้พลังงานสะอาดที่สะดวกในราคาที่เหมาะสมและสามารถแข่งขันในตลาดโลกตามกติกาสากล จะต้องเป็นการเปลี่ยนผ่านที่มีรูปแบบให้มีการผลิตและใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างมีประสิทธิภาพและไม่กระทบต่อความมั่นคงในการให้บริการ ต้องมีรูปแบบการเปลี่ยนผ่านที่ยังคงสามารถช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยให้สามารถดำรงชีวิตขั้นพื้นฐานในสังคม และยังคงมีการให้บริการสาธารณะในระดับที่เพียงพอและเกิดความปลอดภัยในสังคมต่อไป

โจทย์ใหญ่ท้าทายรักษาสมดุลพลังงาน

สำหรับความท้าทายบนกระแสความเปลี่ยนแปลงของภาคพลังงานต่อการกำกับดูแลเพื่อสนับสนุนการสร้างความมั่นคง ความมีเสถียรภาพ และการพัฒนาภาคพลังงานให้เกิดความยั่งยืนจะมีทั้งหมด 4 ด้าน

1. การกำกับดูแลเพื่อรองรับการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียน สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนใหม่ ๆ เช่น พลังงานจากเชื้อเพลิงไฮโดรเจน พลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก รวมไปถึงการส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีระบบกักเก็บคาร์บอนในประเทศ

2. การบริหารจัดการโครงข่ายไฟฟ้าให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดสามารถรองรับแนวโน้มพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงการเปิดโอกาสให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าใช้เองขายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้มากที่สุดในราคาที่เหมาะสม

3. การส่งเสริมการพัฒนาพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนตามศักยภาพและความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ ภาคพลังงานไทยมีความได้เปรียบซึ่งสามารถดึงเอาศักยภาพและความได้เปรียบเหล่านั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ได้แก่ ศักยภาพในเชิงที่ตั้งที่จะสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งไทยเป็นประเทศเกษตรกรรมสามารถผลิตไฟฟ้าจากวัสดุเหลือใช้และต่อเนื่องจากการแปรรูปสินค้าทางการเกษตรภูมิประเทศที่มีพรมแดนเชื่อมติดกับ สปป.ลาว ซึ่งเป็นแหล่งผลิตพลังงานสะอาดสามารถเชื่อมต่อและรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำที่ไม่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจาก สปป.ลาว ได้เป็นจำนวนมาก และการบริหารจัดการแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และแหล่งอื่น ๆ รวมทั้งการนำเข้าจากต่างประเทศให้เสริมประสิทธิภาพซึ่งกันและกันก็สามารถช่วยเสริมการให้บริการไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุก ๆ สถานการณ์รองรับความผันผวนพลังงานและยังสามารถพัฒนาให้เป็นหลุมกักเก็บคาร์บอนได้ด้วย

ผู้ใช้ไฟอยู่ได้ ภาคธุรกิจได้ราคาเหมาะสม

4. การเพิ่มการแข่งขันในภาคพลังงานโดยมุ่งให้ผลประโยชน์เกิดกับผู้ใช้ไฟฟ้า ส่งเสริมผู้ใช้พลังงานและภาคธุรกิจอุตสาหกรรมสามารถเข้าถึงและใช้พลังงานสะอาดได้ในระดับราคาที่เหมาะสม ส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงก๊าซในระบบการผลิตไฟฟ้าหลักยังมีความจำเป็นในช่วงเปลี่ยนผ่าน เพื่อรองรับความมั่นคงและความผันผวนของพลังงานหมุนเวียนไม่สามารถพึ่งพาได้ 100% ถึงแม้ว่าภาคนโยบายจะวางเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนในระบบไฟฟ้าของไทยอย่างต่อเนื่องก็ตาม

ดึงไฮโดรเจน–ใช้นิวเคลียร์เล็ก

ใน มิติด้านสังคม มองว่า ไทยยังมีนโยบายอัตราค่าไฟฟ้าอัตราเดียวกันทุกพื้นที่ เพื่อกระจายความเจริญ มีนโยบายที่ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือน ไม่ต้องเสียค่าไฟฟ้าเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย มีนโยบายช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางในสภาวะวิกฤติพลังงาน และมีนโยบายไฟฟ้าส่องสว่างสาธารณะเพื่อความปลอดภัยของประชากรโดยไม่คิดค่าไฟฟ้า ซึ่งนโยบายเหล่านี้เป็นนโยบายที่ใช้ไฟฟ้าเป็นกลไกสนับสนุนสังคมให้มีการใช้ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานอย่างเท่าเทียมกัน

“การกำกับดูแลพลังงานต้องสอดคล้องกับสถานการณ์และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป เช่น การประยุกต์ใช้ไฮโดรเจนในการผลิตไฟฟ้า การพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) การพัฒนาการของระบบกักเก็บพลังงาน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่รวดเร็ว การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ได้ทันเวลา จะสามารถช่วยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

นอกจากนี้ยังเป็นการลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน ลดราคาพลังงาน และสามารถใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติหรือทรัพย์สินที่มีอยู่แล้วได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสม ตรงเวลา เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาชน เกิดการพัฒนาร่วมกันที่สมดุลและยั่งยืน โดยอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (UGT) เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะส่งเสริมให้ผู้ใช้ไฟฟ้าพลังงานสีเขียวสามารถเลือกซื้อไฟฟ้าสีเขียวจากระบบได้ในราคาที่เป็นธรรมและไม่เอาเปรียบผู้ใช้ไฟฟ้ารายเดิม สิ่งสำคัญที่สุดของการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียว ต้องคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการทางเทคโนโลยี เพื่อให้เกิดความสมดุล เป็นธรรม และยั่งยืน เป็นหัวใจของการกำกับกิจการพลังงานให้เข้ากับสถานการณ์และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป.

จิตวดี เพ็งมาก
[email protected]