สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 4 มี.ค. ว่า รายงานแนวโน้มทรัพยากรโลกปี 2567 ของคณะกรรมการทรัพยากรระหว่างประเทศ (ไออาร์พี) ในโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นอีพี) ระบุว่า การขยายตัวอย่างมากของโครงสร้างพื้นฐาน, อุปสงค์พลังงาน และการบริโภคของผู้บริโภคในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่ร่ำรวยกว่า ผลักดันการใช้ทรัพยากรของโลกมากขึ้น 3 เท่า

นอกจากนี้ การวิเคราะห์ยังพบว่า ความต้องการทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ ตั้งแต่อาหาร ไปจนถึงเชื้อเพลิงฟอสซิล เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉลี่ยมากกว่า 2.3% ต่อปี ซึ่งผู้คนในประเทศร่ำรวยใช้ทรัพยากรมากกว่า 6 เท่า และมีส่วนรับผิดชอบต่อผลกระทบด้านสภาพอากาศถึง 10 เท่า เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำกว่า

รายงานระบุเสริมว่า การสกัดและการแปรรูปทรัพยากรจำนวนมหาศาล เป็นสาเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 60% รวมทั้งทำลายระบบนิเวศ และเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์

แม้นายฮันส์ บรุยนิงค์ส กล่าวว่า แนวโน้มในปัจจุบัน อาจทำให้โลกมีอุณหภูมิเกินขีดจำกัด ซึ่งระบุในข้อตกลงปารีส ฉบับปี 2558 แต่เขายอมรับว่า ทรัพยากรธรรมชาติมีความจำเป็นในการ “พลิกสถานการณ์” ทั้งการส่งเสริมการพัฒนาในประเทศยากจน และการจัดหาแร่ธาตุและโลหะ ที่จำเป็นสำหรับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน

อย่างไรก็ตาม รายงานเตือนว่า หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวาง การแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรโลกจะดำเนินต่อไป ซึ่งทางเลือกเดียวคือ การรักษาสมดุลของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติที่เหลือ ผ่านการเปลี่ยนแปลงในวงกว้างที่เป็นระบบอย่างแท้จริงในด้านพลังงาน, อาหาร, การเคลื่อนย้าย และการสร้างสภาพแวดล้อม ตลอดจนการกำหนดราคาต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมของการสกัดทรัพยากร ให้เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ และรวมอยู่ในข้อตกลงทางการค้า.

เครดิตภาพ : AFP