เมื่อวันที่ 8 มี.ค. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงกรณี พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ หรือผู้การแต้ม อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน กรณีกระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ให้สันนิษฐานว่า มีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. 2567 โดยหนึ่งในนั้น มีการกำหนดปริมาณการครอบครองยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ด ยาไอซ์ไม่เกิน 100 mg เป็นการครอบครองเพื่อเสพ ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้ป่วย เป็นต้น เนื่องจากเห็นว่ากฎกระทรวงดังกล่าว ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ว่า ประเด็นที่ว่ากฎกระทรวงขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น จริงๆ กฎกระทรวงออกตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 มาตรา 107 ซึ่งให้ รมว.สาธารณสุข กำหนดปริมาณยาเสพติดฯ ซึ่งกฎหมายให้อำนาจ ไม่ใช่อยู่ดีๆ จะไปออกกฎกระทรวงได้เลย ต้องผ่านกระบวนการ มีคณะกรรมการที่มาจากทุกภาคส่วน ทั้ง ป.ป.ส. ทหาร ตำรวจ แพทย์ มาร่วมยกร่าง โดยจะมีกำหนดปริมาณชัดเจนตามประเภทยาเสพติด ซึ่งจริงๆ มี 20 รายการ โดยมีการกำหนดปริมาณให้ได้ แต่ละตัวจะไม่เหมือนกัน

“คณะกรรมการยกร่างจะพิจารณาเป็นตัวๆ ไป เช่น ยาบ้า มีการพิจารณาตั้งแต่ 10 เม็ด 15 เม็ด 5 เม็ด หรือ 1 เม็ด โดย 15 เม็ด กับ 1 เม็ด เคยเสนอแต่ไม่ผ่าน ดังนั้น ตัวเลขสุดท้ายคณะกรรมการกำหนดอยู่ที่ 5 เม็ด ซึ่งเหมาะสมที่สุด และอิงจากฐานเดิมที่เคยกำหนดและประกาศใน คสช. ปี 2557 ประกาศ คสช.ฉบับที่ 108/2557 กำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษประเภท 1 คือ ยาบ้าอยู่ที่ 5 เม็ด ให้สันนิษฐานว่าเอาไปเสพ และให้เข้าสู่การบำบัด มีที่มาที่ไปเยอะ” นพ.ชลน่าน กล่าว

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า จริงๆ เรื่องยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ด ก็มีเงื่อนไข แต่หากครอบครองย่อมมีโทษ จำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 หมื่นบาท ซึ่งชัดเจนอยู่แล้ว จะกี่เม็ด 1 เม็ด 2 เม็ด 5 เม็ด ยิ่งหากไปตรวจเจอว่า มีพฤติการณ์ค้าอีก แต่หากเสพก็จะเข้าสู่บำบัดได้ หากสมัครใจ การบำบัดก็ไม่ใช่ว่าบำบัดแล้วจบ จะมีขั้นตอนต่างๆ อีก อย่างไรก็ตาม การออกกฎกระทรวงฯ มีขั้นตอน มีการสอบถามความคิดเห็นประชาชน 15 วัน ซึ่งแสดงความเห็นหลากหลาย ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่สัดส่วนเห็นด้วย 5 เม็ดว่าเหมาะสม

“พวกที่ออกมาคัดค้านช่วงหลัง ช่วงที่ให้แสดงความคิดเห็น ไม่เห็นออกมาแสดงความคิดเห็นเลย อย่างไรก็ตาม เมื่อเรารับฟังความเห็นแล้ว สรุปร่างก็นำเข้า ครม. จนมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2566 หลังจากนั้นส่งให้กฤษฎีกาตรวจร่างดังกล่าว จากนั้นผมลงนามวันที่ 31 ม.ค. และประกาศในราชกิจจาฯ วันที่ 9 ก.พ. 2567 จะเห็นว่าเราทำตามขั้นตอน ส่วนจะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ไม่ใช่หน้าที่ผมว่าจะขัดหรือไม่ จริงๆ ศาลจะไม่วินิจฉัยกฎหมายลูก แต่จะวินิจฉัยตัวกฎหมายใหญ่ที่ผ่านรัฐสภา” รมว.สาธารณสุข กล่าว

นพ.ชลน่าน กล่าวอีกว่า ส่วนการยกเลิกกฎกระทรวงนั้น การออกมาก็ตามขั้นตอนที่กล่าว ซึ่งผู้มีอำนาจ ถ้าจะปรับเปลี่ยนก็จะเป็นไปตามขั้นตอนดังกล่าว โดยยกร่างมาใหม่ ผ่านความคิดเห็นต่างๆ และเสนอ ครม. ก็จะมีขั้นตอนอีก ส่วนกรณีจะให้ลงไปถามประชาชนเรื่องนี้ จริงๆ ตนลงพื้นที่มาตลอด ถามชาวบ้านเรื่องนี้ตลอด ปัจจุบันได้ลงไปดูเรื่องการบำบัดรักษา ซึ่งพบว่ายังมีกว่า 1.9 ล้านคน ที่แฝงอยู่ในชุมชน หากไม่เอากลุ่มนี้ออกมาจากวงจรเดิม คนกลุ่มนี้ก็จะเป็นเครื่องมือของผู้ค้ารายย่อยทันที เราต้องรีบแก้ไข นอกจากบำบัดรักษา ยังต้องร่วมกับชุมชนในการช่วยเหลือ เรียกว่า ชุมชนล้อมรักษ์ มีสถานบำบัด โดยหากมีอาการก็เข้าบำบัดสถานพยาบาล มินิธัญญารักษ์ ซึ่งกลุ่มนี้มีอาการ 4 แสนกว่า แต่ไม่มีอาการอีกกว่า 1.4 ล้านคน เราต้องปลุกชุมชน “อย่างท่านนายกฯ บอก 3 ป. ปลุกชุมชน อย่างวันที่ 18 ก.พ. นี้ ตนจะลงไป จ.น่าน ที่มีการทำชุมชนล้อมรักษ์ด้วย ทั้งหมดคือ การช่วยให้พวกเขากลับสู่สังคมได้ ไม่เช่นนั้นหากยังทำแบบเดิมๆ ตีตราเป็นคดี พอหาย จะกลับไปสมัครงานก็ไม่มีใครรับ ถูกตีตราขี้ยา แล้วจะกลับคืนอย่างไร แต่กฎหมายนี้ เราต้องการให้เขากลับมาได้ เน้นฟื้นฟูสังคม คือ ฟื้นฟูสุขภาพ ปัญหา และอาชีพ เราต้องเติมให้พวกเขา 3 เรื่อง มีอาชีพกลับคืนสู่สังคม และขอย้ำว่า หากสมัครใจไปบำบัด แต่หากหนี ก็ยังเป็นคดี และยิ่งไม่สมัครใจบำบัด ก็จะเป็นคดีอยู่แล้ว ดังนั้น จะเห็นว่า หากเรากันคนกลุ่มนี้กว่า 1.4 ล้านคน ก็จะตัดวงจรจากผู้ค้ารายย่อยได้” นพ.ชลน่าน กล่าว.