เมื่อเวลา 11.10 น. วันที่ 12 มี.ค. (ตามเวลาท้องถิ่นเมืองคานส์ สาธารณรัฐฝรั่งเศส ซึ่งช้ากว่ากรุงเทพฯ 6 ชั่วโมง) ที่ Palais des Festivals เมืองคานส์ สาธารณรัฐฝรั่งเศส นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เข้าร่วมพิธีเปิดงานมหกรรมอสังหาริมทรัพย์ระดับนานาชาติ (MIPIM 2024) และกล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาหัวข้อ “Better Infrastructures in an Age of Risk, Scarcity and Emergency” เพื่อแสดงวิสัยทัศน์และแบ่งปันประสบการณ์ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทย 

โดยนายกฯ กล่าวเน้นย้ำถึงการให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ รัฐบาลส่งเสริมความเท่าเทียมกันผ่านการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเชื่อมั่นว่าโครงสร้างพื้นฐานที่ดีจะเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างความก้าวหน้าและการเข้าถึงทุกภาคส่วน วิสัยทัศน์ของรัฐบาลและการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยให้ความสำคัญกับ 3 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) รัฐบาลวางแผนที่จะเปลี่ยนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการบินหลักของภูมิภาคภายในทศวรรษนี้ โดยมีแผนจะขยายสนามบินที่มีอยู่และสร้างสนามบินใหม่ ทั้งการขยายสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิเพื่อเพิ่มอาคารผู้โดยสารใหม่ และสร้างรันเวย์อีก 2 แห่ง เมื่อสร้างเสร็จจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 150 ล้านคนต่อปี

นายกฯ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ รัฐบาลจะสร้างสนามบินใหม่อีก 2 แห่งในภาคเหนือและภาคใต้ โดยสนามบินนานาชาติล้านนา (Lanna International Airport) จะเป็นสนามบินแห่งที่สองของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่คึกคักในจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดอื่น ๆ ในภาคเหนือ ขณะที่สนามบินนานาชาติอันดามัน (Andaman International Airport) ในจังหวัดพังงา ซึ่งใกล้กับจังหวัดภูเก็ต จะช่วยเสริมศูนย์กลางการบินเชื่อมเส้นทางระยะไกลในภาคใต้ของประเทศไทย โดยสนามบินทั้งสองแห่งนี้จะรองรับผู้โดยสารรวมกันได้สูงสุดถึง 40 ล้านคนต่อปี

นายกฯ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ รัฐบาลมีแผนจะปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติงานภาคพื้นดินและการลดระยะเวลารอผู้โดยสารขาเข้าและขาออก การขยายและจัดสรรเวลาจัดการการบินขึ้น-ลงใหม่ การลดค่าธรรมเนียมการลงจอด และเพิ่มค่าธรรมเนียมการล่าช้า เพื่อเพิ่มมูลค่าการซื้อขายและรองรับเที่ยวบินได้มากขึ้น เป็นต้น  ด้านโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (แลนด์บริดจ์) รัฐบาลเชื่อมั่นว่าโครงการแลนด์บริดจ์จะประสบความสำเร็จและสำคัญกับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีความเป็นกลาง พร้อมเปิดรับทุกภาคส่วนเสมอ  ด้านโครงสร้างพื้นฐานพลังงานสีเขียว รัฐบาลได้ลงทุนจำนวนมากเพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะบรรลุเป้าหมายของการมีพลังงานทดแทน 50% ของการผลิตภายในปี 2583

นายกฯ กล่าวด้วยว่า โครงการและโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของไทย ไม่เพียงสำคัญสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย แต่ยังรวมถึงความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและเท่าเทียมกันด้วย โดยเมื่อเกิดความร่วมมือกัน จะไม่ใช่เพียงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น รัฐบาลกำลังสร้างการเชื่อมต่อที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจและประชาชนเข้าด้วยกัน ทั้งนี้ ขอให้ผู้เข้าร่วมทุกคน พิจารณาการมีส่วนร่วม เปลี่ยนวิสัยทัศน์เหล่านี้เป็นความจริง เพื่ออนาคตที่ยั่งยืนและเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน.