เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ที่หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มีการแถลงข่าว การจัดงานประเพณีสงกรานต์ปีใหม่ไทย (Songkran in Thailand, traditional Thai New Year festival) โดยนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม (วธ.) เป็นประธานแถลงข่าว ว่า จากการที่ประเพณี “สงกรานต์ในประเทศไทย” ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนในรายการตัวแทนมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ โดยองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ดังนั้นในปี 2567 วธ. โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ได้จัดกิจกรรมสืบสานประเพณีสงกรานต์ พ.ศ. 2567 เพื่อฉลองวาระสำคัญดังกล่าว ได้แก่ การจัดทำบทเพลงสงกรานต์ฉบับภาษาต่างประเทศ จำนวน 4 ภาษา ได้แก่ ไทย อังกฤษ จีน ฝรั่งเศส และกำลังดำเนินการจัดทำภาษาอื่นๆ เพิ่มเติม คือ เยอรมัน สเปน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย พม่า เป็นต้น เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติรับรู้ถึงคุณค่าสาระของประเพณีสงกรานต์ในประเทศไทย

รมว.วธ. กล่าวต่อไปว่า สำหรับการจัดกิจกรรมสืบสานประเพณีสงกรานต์ปีนี้ สวธ. ได้มีการจัดทำปฏิทินการจัดกิจกรรมสงกรานต์ ประจำปี 2567 ในช่วงเดือน เม.ย. ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมถึงมีการสนับสนุนการจัดกิจกรรมในกรุงเทพฯ และส่วนภูมิภาค 5 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ขอนแก่น สมุทรปราการ ชลบุรี และภูเก็ต โดยจะเริ่มที่เชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. ขณะที่ส่วนกลาง สวธ. จัดกิจกรรม ประกอบด้วย 1. งานรดน้ำขอพรศิลปินแห่งชาติ ผู้มีผลงานดีเด่นทางวัฒนธรรม และผู้บริหารงานวัฒนธรรม เนื่องในประเพณีสงกรานต์ วันที่ 10 เม.ย. เวลา 10.00-12.00 น. ณ อาคารอเนกประสงค์ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย 2. งานนิทรรศการ “สงกรานต์ไทย มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติ” วันที่ 10-12 เม.ย. เวลา 10.00-21.00 น. ณ ลานกลางแจ้ง หน้าหอศิลป์กรุงเทพมหานคร (BACC) ปทุมวัน 3. กิจกรรม “งานประเพณีสงกรานต์ปีใหม่ไทย” วันที่ 12-15 เม.ย. เวลา 14.00-16.00 น. ณ วัดสุทัศนเทพวราราม

นายเสริมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ขณะที่กิจกรรมสงกรานต์ไฮไลต์ในส่วนภูมิภาค มีดังนี้ จ.เชียงใหม่ จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมวิถีล้านนา ณ ข่วงเมืองต่าง ๆ โดยวันที่ 4-21 เม.ย. กิจกรรม ณ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร วันที่ 13-16 เม.ย. โดยวันที่ 14 เม.ย. เปิดตัวนางสงกรานต์ ขบวนแห่รอบคูเมืองเชียงใหม่ ส่วน จ.ขอนแก่น จัดประเพณีบุญสงกรานต์อีสานดั้งเดิมวัดไชยศรี วันที่ 13-15 เม.ย. งานสืบสานประเพณีสงกรานต์วิถีไทบ้านขอนแก่น ณ หน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น วันที่ 11-15 เม.ย. งานประเพณีสุดยอดสงกรานต์อีสานเทศกาลดอกคูณเสียงแคนและถนนข้าวเหนียว ณ ถนนข้าวเหนียว ด้าน จ.ภูเก็ต จัดงานภูเก็ตนครา มหาสงกรานต์ 2567 “อัตลักษณ์ วิถีชีวิตเพอรานากัน” ระหว่าง 13-15 เม.ย. ณ สวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชินี (ลานมังกร) อ.เมืองภูเก็ต ด้านจ.สมุทรปราการ จัดงานสงกรานต์ “อัตลักษณ์ วิถีชีวิตชุมชนมอญ รามัญ” วันที่ 18-20 เม.ย. ณ ป้อมแผลงไฟฟ้า อ.พระประแดง ส่วนจ.ชลบุรี จัดงานสงกรานต์ “สงกรานต์งามวิจิตร อัตลักษณ์วิถีชีวิต ชลบุรี” Pattaya Old Town ระหว่าง 19-21 เม.ย. ณ ถนนเลียบหาดเมืองพัทยา วัดหนองใหญ่ พัทยา และวัดชัยมงคล (พระอารามหลวง)

ด้านนายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ ประธานสภาวัฒนธรรมกรุงเทพฯ กล่าวว่า สวธ. ได้สนับสนุนงบประมาณให้กับสภาวัฒนธรรมกรุงเทพฯ ร่วมกับเครือข่ายวัฒนธรรม กทม. จัดกิจกรรมประกอบด้วย 1. “สงกรานต์สยาม ผ้าขาวม้า อยู่เย็นเป็นสนุก” วันที่ 13-15 เม.ย. ณ สยามสแควร์ เขตปทุมวัน กทม. 2. “สงกรานต์ซัมเมอร์ อโลฮ่า ปาร์ตี้” ริมแม่น้ำเจ้าพระยา วันที่ 10-17 เม.ย. 2567 ณ เทอมินอล 21 เขตวัฒนา 3.EDM Songkran BAZAAR music Festival 2024 กิจกรรมถนนสายน้ำ วันที่ 11-15 เม.ย. ณ เดอะบาซาร์ รัชดา เขตจตุจักร 4. “สรวลเสเฮฮามหาสงกรานต์สยาม” การละเล่นไทย ดนตรีและประเพณีร่วมสมัยในรูปแบบงานวัดจำลอง ณ สวนสยาม เขตคันนายาว 5. “เพลิดพราว ดาวสงกรานต์ ความงามในตำนาน แห่งถนนสีลม” วันที่ 15-16 เม.ย. ณ ถนนสีลม เขตบางรัก