สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานจากนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 31 มี.ค. ว่า ร่างกฎหมายจากกระทรวงอาหารและการเกษตรเยอรมนี ซึ่งได้รับการเผยแพร่เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา มีเป้าหมายเพื่อต่อสู้กับ “การเพาะพันธุ์สัตว์แบบทรมาน” หรือการผสมพันธุ์เพื่อผลิตสัตว์ที่มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งทำให้พวกมันเจ็บปวดทรมาน และเพื่อควบคุมการค้าขายสัตว์ทางออนไลน์

อย่างไรก็ตาม สมาคมผู้เพาะพันธุ์สุนัขแห่งเยอรมนี หรือ “วีดีเอช” ระบุในแถลงการณ์ว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวมีข้อกำหนดที่อาจยุติการผสมพันธุ์สุนัขบางสายพันธุ์ เช่น ดัชชุน โดยระบุถึงลักษณะโรคต่าง ๆ เช่น ความผิดปกติของระบบโครงกระดูก ซึ่งอาจถือเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

อนึ่ง ข้อจำกัดข้างต้นอาจมีผลบังคับใช้กับความยาวขาของสุนัขพันธุ์ดัชชุน ส่วนสุนัขสายพันธุ์อื่น ๆ เช่น บีเกิล, แจ็ครัสเซลล์ เทอร์เรียร์ และมินิเอเจอร์ ชเนาเซอร์ รวมถึงสุนัขที่มีจมูกสั้น เช่น อิงลิชบูลด็อก, เฟรนช์บูลด็อก และปั๊ก ก็อาจได้รับผลกระทบเช่นกัน

ด้านนายเลฟ โคเปอร์นิก ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของวีดีเอช กล่าวในแถลงการณ์ว่า ลักษณะโรคบางอย่างที่ระบุในร่างกฎหมาย “คลุมเครือเกินไป” ซึ่งทางสมาคมกำลังเรียกร้องให้มีการจัดทำรายชื่อลักษณะโรคที่ชัดเจน และเป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างความแน่นอนทางกฎหมาย และต่อสู้กับการเพาะพันธุ์สัตว์แบบทรมานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ขณะที่โฆษกกระทรวงอาหารและการเกษตรเยอรมนี กล่าวว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนจัดทำ และมีแนวโน้มที่จะได้รับการแก้ไขโดยรัฐสภาเยอรมนี พร้อมกับยืนยันว่า ข้อเสนอในร่างกฎหมายมีความเกี่ยวข้องกับลักษณะที่เกิดจากการเพาะพันธุ์ซึ่งทำให้เกิดความผิดปกติ และสวัสดิภาพโดยรวมของสัตว์ ไม่ใช่การห้ามแบบครอบคลุมที่มุ่งเป้าไปยังสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งโดยเฉพาะแต่อย่างใด.

เครดิตภาพ : AFP