สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 6 เม.ย. ว่ากองทัพฟิลิปปินส์ สหรัฐ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ออกแถลงการณ์ร่วมกัน เกี่ยวกับการเตรียมฝึกซ้อมรบทางทะเล และทางอากาศ “ภายในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ( อีอีแซด )” ของฟิลิปปินส์ ตลอดวันที่ 7 เม.ย. นี้ โดยมีเป้าหมายส่งเสริมและขยายขอบเขตความร่วมมือที่เกี่ยวข้อง ทั้งระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ “เพื่อความเป็นเสรีและเปิดกว้างของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก”


ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้น ท่ามกลางบรรยากาศตึงเครียดรอบใหม่ในทะเลจีนใต้ ที่คู่ขัดแย้งหลัก ณ เวลานี้ คือจีนกับฟิลิปปินส์


ทั้งนี้ ประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ผู้นำฟิลิปปินส์ ลงนามในคำสั่งฉบับหนึ่ง เมื่อปลายเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกแห่ง ส่งเสริมความร่วมมือและการดำเนินงานที่จำเป็นระหว่างกัน ในเรื่องความมั่นคงทางทะเล เพื่อเตรียมความพร้อมเผชิญหน้ากับ “ความท้าทายร้ายแรงหลากหลายรูปแบบ” ที่จะเกิดขึ้นกับอธิปไตย และบูรณภาพแห่งดินแดนของฟิลิปปินส์


เนื้อหาในคำสั่งฉบับนี้ไม่ได้เอ่ยถึงจีนอย่างตรงไปตรงมา แต่มาร์กอส จูเนียร์ กล่าวว่า จะใช้ “มาตรการเชิงรุก” ในอนาคต เพื่อตอบโต้กับการโจมตีที่ก้าวร้าวและอันตราย การกดขี่ และการบีบบังคับของหน่วยยามฝั่งจีน ที่มีต่อเรือของฟิลิปปินส์


อนึ่ง ภารกิจทางทะเลของจีนและฟิลิปปินส์เผชิญหน้า และปะทะกันบ่อยครั้งมากขึ้น บริเวณแนวสันดอนโธมัสที่สอง ที่ฟิลิปปินส์เรียกว่า แนวสันดอนอยุนงิน ส่วนจีนเรียกว่า แนวสันดอนเหรินอ้าย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะสแปรตลีย์ เกาะขนาดใหญ่ที่สุดในทะเลจีนใต้


อย่างไรก็ตาม อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ( อันคลอส ) ฉบับปี 2525 ระบุว่า แต่ละประเทศบนโลกมีอำนาจอธิปไตยเหนือทรัพยากรธรรมชาติ ที่อยู่ภายในอาณาเขตไม่เกิน 200 ไมล์ทะเล หรือ 370 กิโลเมตร จากชายฝั่ง ซึ่งหมู่เกาะสแปรตลีย์อยู่ห่างจากมณฑลไห่หนาน หรือเกาะไหหลำของจีน เป็นระยะทางเกือบ 1,000 กิโลเมตร.

เครดิตภาพ : AFP