ถือเป็นอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจของวงการไอดอลหญิงไทย โดยเมื่อวันที่ 13 ต.ค. ที่ผ่านมา ได้มีการเปิดตัว สมาคมการค้าธุรกิจไอดอลหญิง (Female Idol Trade Association : FITA) ผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก Female Idol Trade Association : FITA โดยมีวัตถุประสงค์อยากร่วมเสริมสร้างและร่วมผลักดันวงการไอดอลในประเทศไทย

FITA เป็นสมาคมที่จัดตั้งขึ้นตามกฏหมายในข้อกำหนดของภาครัฐ เพื่อให้เกิดความถูกต้องในการจัดตั้งสมาคม โดย อยู่ภายใต้สังกัดของกรมพัฒนาการค้า (DBD) กระทรวงพาณิชย์

ทั้งนี้ การจัดตั้งสมาคมนั้นต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดต่าง ๆ รวมถึงจุดมุ่งหมายในการส่งเสริม และต้องการมีส่วนร่วมในการผลักดันธุรกิจไอดอลในประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับ จึงเป็นที่มาของชื่อ “สมาคมการค้าธุรกิจไอดอลหญิง” (Female Idol Trade Association : FITA)

โดยกรรมการสามัญชุดที่ 1 ของ “สมาคมการค้าธุรกิจไอดอลหญิง” (Female Idol Trade Association : FITA) มีดังต่อไปนี้
ภัทร วิชชุภานนท์ : นายกสมาคมฯ และ CEO HatoBito บริษัท สเปซไอดอล จำกัด
ธราดล สุคนธากรณ์ : รองนายกสมาคมฯ และ Co-Founder บริษัท สยามดอล จำกัด
หิรัญ กุยยกานนท์ : รองนายกสมาคมฯ และ Founder/Executive Producer – Fever, Founder / CEO บริษัท โรมรัม เอ็นเตอร์เทนเมนต์ จำกัด
พิมพ์พร ขยันเขียน : เลขาธิการสมาคมฯ และรองประธานกรรมการ บริษัท เมอร์รี่ โก ซาวด์ จำกัด
สุริยา สุภีกิจ : คณะกรรมการสมาคมฯ และ Founder/President/Producer – AKIRA KURO
วัชรเทพ อินทร์คง : คณะกรรมการสมาคมฯ และ Producer – Ren Entertainment

ด้าน ภัทร วิชชุภานนท์ นายกสมาคมฯ กล่าวว่า “วงการไอดอลมันก็ไม่ต่างจากวงการเกม อีสปอร์ต หรืออะไรก็แล้วแต่ ที่ยังไม่ทันจะเริ่มเลย พอแค่พูดชื่อคนก็มองแล้วว่า มันคือสิ่งที่ไม่ดีในสังคม มันหดหู่ทั้งวงการ ไอดอลคือศิลปินรูปแบบหนึ่ง”

“สิ่งที่เราอยากเห็นคือทุกวงสามารถร่วมงานกันได้ ทุกวงสามารถขึ้นเวทีด้วยกันได้ ทุกวงสามารถจัดงานใหญ่ ๆ ร่วมกันได้ อันนี้คือสิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้น เพราะว่า ถ้าเรามีแรงแค่วงเดียว ก็มีแค่หนึ่งแรง แต่ถ้าเรามีหลาย ๆ วงช่วยกัน เราสามารถสร้างงานใหญ่ ๆ ขึ้นมาได้ เพราะว่าแต่ละวงก็มีจุดแข็งจุดเด่นแตกต่างกันไป”

“เราอยากจะปรับตรงนั้น เราอยากจะสร้างมาตรฐานใหม่ขึ้นมา ทำให้เป็นธุรกิจที่ทุกคนยอมรับได้”

ส่วน หิรัญ กุยยกานนท์ รองนายกสมาคมฯ กล่าวเสริมว่า “จริง ๆ แล้วการมีสมาคมขึ้นมา ก็คือการที่ทำให้วงการสามารถเดินหน้าไปได้”

ขณะที่ ธราดล สุคนธากรณ์ รองนายกสมาคมฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “อยากให้ทุกคนได้รู้จักไอดอลในไทยว่ามันมีเยอะมาก ยังมีอีกหลายวงที่คุณอาจจะยังไม่รู้จัก และเขาก็สตรองด้วย แล้วก็คอนเซปต์ดีด้วย แต่เขาอาจจะยังขาด สิ่งที่เขาขาดอาจจะเป็นเรื่องเงินทุน หรือคอนเนคชั่นต่าง ๆ หรือแม้แต่ตัวกลุ่มแฟนคลับที่จะมาสนับสนุนก็ตามที”

ทาง วัชรเทพ อินทร์คง คณะกรรมการสมาคมฯ กล่าวว่า “สิ่งที่อยากให้วงการไอดอลเป็นนะ มีงานที่รองรับมากยิ่งขึ้น เปลี่ยนแปลงวงการไอดอลให้มันถูกต้อง”

ฝั่ง สุริยา สุภีกิจ คณะกรรมการสมาคมฯ กล่าวปิดท้ายว่า “เราจะทำให้วงการเติบโตขึ้น เป็นที่รู้จักให้กว้างขึ้น เราจะพยายามทำให้ไอดอลขึ้นมาอยู่ในกระแสหลักให้ได้ และหลอมรวมทุก ๆ คนเข้ามาเป็นคอมมูนิตี้เดียวกัน ทำให้วงการธุรกิจไอดอลของเราเติบโต เพื่อให้ทัดเทียมกับประเทศที่เป็นต้นแบบของไอดอลอย่างญี่ปุ่น”

จากนี้คงต้องติดตามกันต่อไปว่า สมาคมการค้าธุรกิจไอดอลหญิง (Female Idol Trade Association : FITA) จะเข้ามามีบทบาทช่วยเหลือวงการไอดอลไทยได้อย่างไรบ้าง ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และน่าเอาใจช่วยเป็นอย่างยิ่ง.