เมื่อวันที่ 16 ส.ค. ที่กระทรวงยุติธรรม นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณาความพร้อมและแนวทางการปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปล่อยตัวผู้กระทำผิดและผู้ต้องขังคดีความผิดเกี่ยวกับพืชกระท่อม ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยมีนายอุทัย สิมมา อธิบดีอัยการ สำนักงานคดียาเสพติด นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. นายปกรณ์ ยิ่งวรการ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำสำนักประธานศาลฎีกา พล.ต.ต.มนตรี ยิ้มแย้ม ผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ตัวแทนจากกรมราชทัณฑ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า  วันที่ 24 ส.ค.นี้พืชกระท่อมจะถูกปลดล็อกออกจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้การดำเนินคดีต่างๆ เกี่ยวกับพืชกระท่อมต้องถูกยุติ ดังนั้น ป.ป.ส.และกรมราชทัณฑ์จึงต้องเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยตัวผู้ต้องขังที่ถูกดำเนินคดีในความผิดทั้งเสพ ครอบครอง และจำหน่ายพืชกระท่อม จึงต้องหารือกับตำรวจ ศาลและอัยการว่าจะมีขั้นตอนอย่างไร สำหรับจำนวนผู้ต้องขังในความผิดคดีพืชกระท่อมนั้น ได้รับรายงานจากรมราชทัณฑ์ว่ามีจำนวน 1,038 ราย ขณะที่ปี 2564 มีคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาลชั้นต้น 22,076 ข้อหา ปี 2563 มี 50,834 ข้อหา และจำนวนคดีชั้นพนักงานอัยการ 11,455 ราย 

“หลังจากวันที่ 24 ส.ค. ตามกฎหมายผู้กระทำผิดในคดีที่อยู่ระหว่างการสอบสวน พนักงานอัยการ การพิจารณาของศาล รวมถึงผู้ต้องขังคดีเด็ดขาดจะไม่ถือเป็นผู้กระทำความผิดอีกต่อไป ซึ่งกรมราชทัณฑ์จะต้องทำระเบียบการปล่อยตัวให้เสร็จก่อนวันที่ 24 ส.ค.นี้ เพื่อไม่ให้ติดค้าง ไม่เช่นนั้นผู้ที่ต้องโทษในเรือนจำจะกลายเป็นผู้เสียหายหรือกลายเป็นแพะ ซึ่งหากปล่อยไว้ก็อาจจะเสียค่าใช้จ่ายเพื่อเยียวยาอีก ส่วนร่าง พ.ร.บ.พืชกระท่อม ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการรอบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งในส่วนของ กมธ.วิสามัญได้พิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้ว มีทั้งสิ้น 39 มาตรา โดย กมธ.ได้ปรับลดความยุ่งยาก อยากให้เป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด สามารถปลูก ใช้และจำหน่ายได้อย่างเสรี แต่ห้ามนำไปผสมกับสารเสพติด รวมถึงการนำเข้าและส่งออกจะต้องขออนุญาตกับทาง ป.ป.ส. และการทำผลิตภัณฑ์ที่ต้องของอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น” รมว.ยุติธรรม กล่าว

ด้านนายปกรณ์ กล่าวว่า เมื่อกฎหมายปลดล็อกพืชกระท่อมมีผลบังคับใช้ ผู้กระทำความผิดคดีพืชกระท่อมต้องพ้นโทษ ให้ถือว่าไม่เคยต้องคำพิพากษา การส่งฟ้องต้องถูกยกคำฟ้องในทุกชั้นศาล ส่วนผู้ที่ถูกฝากขังก็ต้องได้รับการปล่อยตัวทันที ในส่วนของผู้ต้องขังในเรือนจำจะต้องรอหมายศาลเพื่อให้ปล่อยตัว สำหรับเรือนจำต่างๆ ที่มีผู้ต้องขังในคดีดังกล่าวที่จะได้รับการปล่อยตัว ขอให้มีการปรับเรื่องคลื่นสัญญาณอินเทอร์เน็ตให้มีความเสถียร เพื่อรองรับการอ่านคำพิพากษาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในกระบวนการ.