ในช่วงนี้ หลายๆ คนคงจะเคยได้ยิน หรือเคยอ่านข่าวเกี่ยวกับ “โรคฝีดาษลิง” โดยองค์การอนามัยโลก (ดับเบิลยูเอชโอ) ยืนยันว่า พบการระบาดนอกแอฟริกา โดยเฉพาะในพื้นที่ของยุโรป ซึ่งทางไทยเราเองก็มีการระวังเรื่องนี้กันอยู่เช่นเดียวกัน

แต่อันที่จริงแล้ว หลายๆ คนคงจะยังเกิดความสงสัยกันอยู่มิใช่น้อยว่า “ฝีดาษลิง” นั้นมีความอันตรายมากน้อยเพียงไร วันนี้ “Healthy Clean” มีคำตอบมาฝากกัน

โดย รศ.พญ.จรัสศรี ฬียาพรรณ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ได้เผยว่า อันที่จริงแล้ว โรคฝีดาษลิง (monkeypox) กับโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ (small pox) เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่ม pox virus เหมือนกัน แต่เป็นไวรัสคนละสายพันธุ์ ทั้งสองโรคมีการแพร่เชื้อและความรุนแรงที่ต่างกัน โดยโรคฝีดาษลิงจะมีความรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตที่น้อยกว่าโรคฝีดาษ โดยโรคฝีดาษลิง มีการรายงานการระบาดที่แถบทวีปแอฟริกาและอาจพบกระจายไปที่ทวีปอเมริกาหรือยุโรปเป็นบางช่วงเวลา ผ่านการเดินทางหรือผ่านทางสัตว์ แต่โรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ ไม่มีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อมาตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2522

“โรคฝีดาษลิงติดต่อผ่านผิวหนังทางการสัมผัสสารคัดหลั่ง หรือการโดนกัดจากสัตว์ที่ติดเชื้อจำพวกลิงหรือสัตว์ฟันแทะ” เช่น หนูหรือกระรอก เป็นต้น มีรายงานการติดต่อจากคนสู่คนได้ผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งหรือแผลของผู้ป่วย การแพร่กระจายผ่านละอองฝอยพบได้น้อย การแพร่กระจายของโรคฝีดาษลิงพบน้อยกว่าโรคฝีดาษมาก

ส่วนอาการแสดงของโรคฝีดาษลิง “ผู้ป่วยจะมีอาการหลังได้รับเชื้อประมาณ 7-14 วัน” โดยจะเริ่มมีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ และปวดหลัง บางรายอาจมีอาการเจ็บคอ ท้องเสีย ปวดท้อง หรืออาเจียน ผื่นจะเริ่มขึ้น 1-3 วันหลังมีไข้ โดยจะเป็นผื่นแดงและกลายเป็นตุ่ม มักเริ่มที่หน้า ตัวและกระจายที่มือเท้า โดยตุ่มจะมีลักษณะเหมือนกันทั้งตัว หลังจากนั้นประมาณ 14 วัน ตุ่มแดงทั้งหมดจะกลายเป็นตุ่มน้ำตุ่มหนองพร้อมกัน และเริ่มแตกเป็นแผลมีสะเก็ดพร้อมกัน ซึ่งนอกจากอาการผื่นแล้ว ผู้ป่วยมักมีต่อมน้ำเหลืองโตที่บริเวณคาง ลำคอ และขาหนีบ ผู้ป่วยส่วนน้อยอาจมีกระจกตาอักเสบ มีปอดอักเสบ หรือสมองอักเสบได้

อาการแสดงของโรคฝีดาษลิงจะมีอาการและอาการแสดงที่น้อยกว่าโรคฝีดาษ ผื่นของทั้งสองโรคจะมีลักษณะใกล้เคียงกัน “แต่ผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงจะพบต่อมน้ำเหลืองโตบ่อยมากกว่าโรคฝีดาษ” ส่วนความรุนแรงของโรคฝีดาษลิงและอัตราการเสียชีวิตของโรคฝีดาษลิงจะอยู่ที่ 1-10% ซึ่งต่ำกว่าโรคฝีดาษหรือไข้ทรพิษ

ในทางการการรักษาโรคฝีดาษลิง จะทำการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ หากผู้ป่วยมีอาการท้องเสีย อาเจียน อาจจำเป็นต้องได้รับน้ำเกลือทางเส้นเลือด ยารักษาจำเพาะโรคใช้ในผู้ป่วยบางรายที่อาการรุนแรง ส่วนวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษเพื่อป้องกันโรค จะแนะนำในกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงหรืออยู่ในแหล่งที่มีการระบาดของเชื้ออีกด้วย..

………………………………………
คอลัมน์ : Healthy Clean
โดย “พรรณรวี พิศาภาคย์”