งานนี้ไม่รู้ว่ามีใครอกหักดังเป๊าะ! บ้างหรือเปล่า? หลังจากนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ออกมาชี้แจงเกี่ยวกับงานในหน้าที่อย่างเป็นการเป็นงานบ้าง! ถึงความคืบหน้ากรณีสั่งเร่งรัดให้บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ “เอ็นที” เร่งหาพันธมิตรในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 5G บนคลื่นความถี่ย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ที่เอ็นทีเคยโชว์ออฟไปประมูลมาจาก กสทช. ไว้เต็มหน้าตัก หมดเงินไปกว่า 34,000 ล้านบาท

พอจะหันมาลุยตลาด 5G จึงล้วงกระเป๋าตัวเองปรากฏว่ามีปัจจัยอยู่ไม่ถึง 20,000 ล้านบาท เลยต้องวิ่งหาพันธมิตรธุรกิจเข้ามาร่วมทำตลาด 5G ล่วงเลยมากว่า 1 ปี แต่ไม่ไปถึงไหน ทำให้ถึงกับควันออกหู!

จนในที่สุดได้ข้อสรุปโดยบอร์ดเอ็นที เห็นชอบร่วมเป็นพันธมิตรธุรกิจกับค่าย “เอไอเอส” คาดว่าจะลงนามในสัญญากันภายในเดือน ก..นี้ หลังจาก “เอ็นที” ได้กรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่แล้ว คงไม่ใช่ใครที่ไหน เขาคือ “พี่ใหม่” พ..สรรพชัย หุวะนันทน์ อดีตซีอีโอ กสท โทรคมนาคม หรือ “แคท” ที่ดอดไปประมูลคลื่น 5G มาเองนั่นแหละ

โดยเอ็นทีจะแบ่งคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz ที่มีอยู่ในมือ 2 ใบอนุญาต 10 MHz ในย่านความถี่ 738-748 MHz คู่กับ 793-803 MHz ให้เอไอเอส 5 MHz (5×2 MHz ) เพื่อร่วมทำตลาด 5G ตามที่เอไอเอสเสนอ แต่จะเริ่มเมื่อไหร่ และอย่างไร คาดว่าคงต้องรอให้ให้ซีอีโอคนใหม่เข้ามารับตำแหน่งหลังวันที่ 1 ก.ค. 65

เหตุผลที่แบ่งคลื่นให้เอไอเอส ไม่มีอะไรมากนักหรอก แค่เบอร์ 1 ของธุรกิจมือถือเสนอเงื่อนไขและผลประโยชน์ที่เข้าท่าต่อ “เอ็นที” ก็แค่นั้นเอง!

นอกจากข่าวคราวระหว่าง “เอ็นทีเอไอเอส” แต่เมื่อสัปดาห์ก่อนแวดวงธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม และผู้บริโภคก็รู้สึกฮาเฮ! หลังจากรอลุ้นประเด็นข้อถกเถียงกันมานานว่า “กสทช.” มีอำนาจพิจารณา “อนุญาต” หรือ “ไม่อนุญาต” การควบรวมธุรกิจระหว่าง 2 ค่ายมือถือ “ทรูดีแทค” ได้หรือไม่?

เนื่องจากก่อนหน้านั้น นายณภัทร วินิจฉัยกุล หนึ่งในคณะกรรมการติดตามการปฏิบัติงานของ กสทช.หรือ “ซูเปอร์บอร์ด กสทช.” ได้ร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้ดำเนินการไต่สวน หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอให้มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศ กสทช.ว่าด้วยมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ลงวันที่ 4 ธ.ค. 2560

จนกระทั่งวันที่ 16 มิ.ย. 65 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งยกคำร้องขอทุเลาประกาศ กสทช.ดังกล่าว โดยศาลได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ประกาศ กสทช.ว่าด้วยมาตรการควบรวมฯ ปี 2561 ประกอบประกาศ กสทช.ว่าด้วยมาตรการป้องกันการผูกขาดปี 2549 ได้ให้อำนาจ กสทช. ที่จะพิจารณา “อนุมัติ” หรือ “ไม่อนุมัติ” การขอควบรวมธุรกิจได้อยู่แล้ว หากพิจารณาเห็นว่า การรวมธุรกิจดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการโทรคมนาคม กสทช.ก็มีอำนาจ “สั่งห้าม” การรวมธุรกิจได้ จึงให้ยกคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวไป

คำสั่งของศาลปกครองกลาง ออกมาตามหลัง “กสทช.” จัด 3 เวที รับฟังความเห็นสาธารณะในวงจำกัด (โฟกัส กรุ๊ป) เพิ่งจบไปหมาด ๆ

คาดว่า กสทช.ชุดใหม่ 5 คน ที่เพิ่งเข้ามาทำงานได้แค่ 2 เดือน คงแทบสำลักข้อมูลจากนักวิชาการ โอปเรเตอร์ และเครือข่ายผู้บริโภค ที่มาให้ข้อมูลในด้านต่าง ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับกฎหมาย-เศรษฐศาสตร์-กรณีศึกษาในต่างประเทศ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา ว่าควรให้มีการควบรวมกิจการ “ทรู-ดีแทค” หรือไม่ คาดว่าภายในวันที่ 10 ก.ค. 65 น่าจะมีคำตอบออกมาจาก กสทช.

แต่เท่าที่ดูจากหลาย ๆ องค์ประกอบ คงได้สรุปตามตำรา “จับปลา 2 มือ” สุดท้ายปลาหลุดมือไปหมด…ไม่รู้ใคร!!

————————-
พยัคฆ์น้อย