พุทธสุภาษิตที่ว่า… อโรคยา ปรมา ลาภา หรือ การ “ไม่มีโรค” เป็นลาภอันประเสริฐ ฉันใด การ “ไม่มีหนี้” ก็เป็นลาภอันประเสริฐ ฉันนั้น เช่นกัน

ในยุคข้าวยากหมากแพงเช่นนี้!! การทำมาหากินให้มีกินมีใช้ไปแต่ละวัน ก็สุดแสนยากลำบากอยู่แล้ว หากต้องหาเงินมาใช้หนี้ ก็ยิ่งยากเพิ่มเป็นทวีคูณ โดยเฉพาะประชาชนคนไทยที่ยังต้องหาเช้ากินค่ำ แถมยังมีภาระผ่อนชำระสารพัดหนี้

การเป็นหนี้มันเหนื่อย! ใครที่เป็นหนี้ ทั้งผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ในเวลานี้ คงต้อง “กุมขมับ” เพราะจากนี้ไป “อัตราดอกเบี้ย” มีแนวโน้มสูงขึ้น

หลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงินหรือ กนง.ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 65 ได้ส่งสัญญาณว่า…การใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายมากมีความจำเป็นลดลง โดย กนง.มีมติ 4 ต่อ 3 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ซึ่ง 3 เสียงเห็นควรให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 0.75%

นับเป็นการเปลี่ยนท่าทีอย่างฉับพลัน!! จากการประชุมครั้งก่อนที่เห็นได้ชัดเจน!!

บรรดากูรูการเงิน ต่างออกมาฟันธงเป็นเสียงเดียวกันว่า กนง.จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรก ในการประชุมวันที่ 10 ส.ค.นี้

ที่สำคัญ!! ยังคาดการณ์กันอีกว่า กนง.จะปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างต่อเนื่องทั้งหลายทั้งปวง…ก็เพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อไม่ให้ถีบตัวแรงมากขึ้นไปกว่านี้อีก

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ รายงานตัวเลข “เงินเฟ้อ” ล่าสุด เดือน มิ.ย.65 เพิ่มขึ้น 7.66% ทำสถิติสูงสุดในรอบปี และสูงสุดในรอบ 13 ปีอีกครั้ง ซึ่งเป็นผลกระทบจากราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ก๊าซหุงต้มขึ้นราคา และกลุ่มอาหารเพิ่มสูงขึ้น

ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อ ในช่วงไตรมาส 3 หรือในอีก 3 เดือน จากนี้ (ก.ค.-ก.ย.) 65 ยังสูงต่อเนื่อง แต่ประเมินไม่ได้ว่าจะสูงเท่าใด ขณะที่การคาดการณ์ทั้งปียังคงอยู่ที่ระดับ 4-5%

แม้ว่าก่อนหน้านี้ “ขุนคลัง-อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” ได้ส่งสัญญาณ ถึงสถาบันการเงิน ให้ตรึงดอกเบี้ยไว้ให้นานที่สุด เพราะเป็นการซ้ำเติม “ต้นทุน” ให้กับทุกชีวิตเพิ่มมากขึ้นก็ตาม

แต่!! ในเมื่อ… ราคาพลังงานโลก ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะ “หยุดพุ่ง” เมื่อใด ก็ย่อมทำให้ชีวิตทุกคนอยู่ยาก!! มากขึ้น ดังนั้น…เครื่องมือในการสกัดกั้นอย่าง “ดอกเบี้ย” จึงต้องงัดกันออกมาใช้ ก่อนที่ทุกอย่างต้อง “พังพาบ” โดยเฉพาะเงินทุนไหลออก ที่ย่อมออกไปหา “ผลตอบแทน” ที่สูงกว่า

ขณะที่ภาคเอกชนต่างสกัดกั้นปัญหาต้นทุนการเงินสูงขึ้นจากแนวโน้มดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ด้วยการระดมออก “หุ้นกู้” แบบล็อกเป้า ในระยะกลาง 7 ปี คาดกันว่าตลอดทั้งปีนี้จะมีการออกหุ้นกู้กันมากถึง 1.2 ล้านล้านบาท

ด้านนายแบงก์เอง ต่างออกมา “ตั้งท่า” เตรียมยกเลิกแคมเปญ “ดอกเบี้ยคงที่” หรือ “ฟิกซ์เรต” สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัย ที่เชื่อกันว่า น่าจะเริ่มขึ้นหลังจากมติของ กนง.ในเดือน ส.ค.นี้

นั่นหมายความว่า…ใครที่คิดจะซื้อบ้าน ก็ต้องเตรียมใจควักเงินจ่ายค่างวดเพิ่มขึ้น อีกอย่างน้อย 4-5% หรือ ถ้าเป็นคนที่ผ่อนชำระอยู่แล้ว ก็ต้องมีภาระผ่อนนานขึ้น… เพราะแบงก์ย่อมต้องหักเงินงวดเป็นค่าดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ขณะที่การหักเงินต้นนั้นต้องน้อยลงไปโดยปริยาย

ปัจจุบัน… แบงก์ชาติรายงานตัวเลขยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ในไตรมาสแรก ปี 65 อยู่ที่กว่า 2.62 ล้านล้านบาท ขณะที่ยอดหนี้เอ็นพีแอลคงค้างของสินเชื่อที่อยู่อาศัยยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

การที่ดอกเบี้ยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นั่นหมายความว่า…ย่อมต้องทำให้ความยากลำบากเพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกัน เมื่อรู้ตัวว่าต้องมีภาระเพิ่มขึ้น หากเตรียมตัวให้พร้อม เร่งควานหาช่องทางเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ก็เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องทำ!!

ทั้งเรื่องของสารพัดมาตรการที่ภาครัฐระดมออกมา ทั้งช่องทางของแบงก์ชาติ  แบงก์พาณิชย์ ที่ตอนนี้ก็เร่งโปรโมท เรื่องการ “รีไฟแนนซ์”  หรือเรื่องของการ “ปรับโครงสร้างหนี้” ก็เป็นอีกหนทางในการเอาตัวรอด

อย่าลืมว่า…ดอกเบี้ยบ้าน แม้เป็นเลขตัวเดียว แต่มูลค่าหนี้นั้นก้อนใหญ่ หากไม่เตรียมตัวให้พร้อมซะเดี๋ยวนี้… อาจต้องเสียบ้านไปก็ได้…

……………………………………….
คอลัมน์ : เศรษฐกิจจานร้อน
โดย “ช่อชมพู”