วันที่ 30 กันยายน 2565  องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์เมื่อเวลา 09.00 น. พิจารณาคดีวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อพิจารณาวินิจฉัยและปรึกษาหารือก่อนลงมติ

ต่อมาเมื่อเวลา 15.00 น. องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยคดีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสาม  ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ หรือไม่

องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า แม้ตามบทเฉพาะกาล จะระบุว่า ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เป็นคณะรัฐมนตรี ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ จะเข้ารับหน้าที่และให้นำความในมาตรา 263 วรรคสาม มาใช้บังคับแก่การดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีด้วยโดยอนุโลม แต่กฎหมายจะมีผลเมื่อ รัฐธรรมนูญ มีผลบังคับใช้คือ วันที่ 6 เมษายน 2560 ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญ เสียงข้างมากจึงเห็นว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี ยังไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ ตามที่มีคำวินิจฉัย ดังนี้

“…พิเคราะห์แล้วเห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 264 วรรคหนึ่ง เป็นบทบัญญัติที่มีความมุ่งหมาย 2 ประการ ประการแรก เพื่อให้บทบัญญัติที่ยืนยันถึงหลักความต่อเนื่องของคณะรัฐมนตรี กล่าวคือแม้คณะรัฐมนตรีซึ่งมีผู้ถูกร้องเป็นนายกรัฐมนตรี จะเป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญฉบับอื่นอยู่ก่อนวันประกาศใช้บังคับรัฐธรรมนูญปี 2560 แต่เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้บังคับเมื่อวันที่ 6 เมายน 2560 แล้ว ต้องถือว่าคณะรัฐมนตรีซึ่งแม้จะเข้าสู่ตำแหน่งรัฐมนตรีโดยรัฐธรรมนูญฉบับอื่นก็ตาม ย่อมเป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 ซึ่งเป็นวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นต้นไป ตามบทเฉพาะกาลมาตรา 264

ประการที่ 2 เพื่อนำกฎเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญที่ประกาศบังคับใช้ใหม่ ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาบังคับใช้แก่คณะรัฐมนตรีที่มีอยู่ก่อนวันรัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้ ซึ่งเป็นไปตามหลักที่คณะรัฐมนตรี ที่บริหารราชการแผ่นดิน ก่อนวันประกาศใช้บังคับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่ประกาศขึ้นมาใหม่ทุกประการทันที เว้นแต่ในบทเฉพาะกาลจะมีข้อยกเว้นว่ามิให้นำเรื่องใดมาใช้บังคับแก่คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดังปรากฏในมาตรา 264 วรรคสอง ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวเป็นการยกเว้นไว้ในบางเรื่องเท่านั้น ดังนั้นหากมิได้ประกาศยกเว้นบทบัญญัติเรื่องใดไว้ก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ซึ่งความมุ่งหมายของมาตรา 264 จึงเป็นไปตามหลักทั่วไปของการใช้บังคับกฎหมาย คือกฎหมายย่อมมีผลบังคับใช้นับจากวันประกาศใช้ เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 ย่อมมีความหมายว่าทุกบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มีผลใช้บังคับตามบทเฉพาะกาลทั่วไป เว้นแต่ในบทเฉพาะกาลมีการบัญญัติให้เรื่องใดยังไม่มีผลบังคับใช้ ดังนั้นไม่ว่ากรณีใดเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ใช้บังคับ ทุกอย่างจึงต้องเริ่มนับทันที

กรณีตามมาตรา 158 วรรคสี่ ในเรื่องระยะเวลา 8 ปี จึงต้องเริ่มนับทันทีนับแต่วันที่รัฐธรรมนูญปี 2560 มีผลบังคับใช้ จากหลักกฎหมายดังกล่าวข้างต้น จึงวินิจฉัยได้ว่าผู้ถูกร้องซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดิน อยู่ในวันก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญปี 2560

ข้อกล่าวอ้างที่ว่าคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่3-5/2550 และ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 24/2564 เป็นการใช้กฎหมายย้อนหลังเพื่อเพิกถอนสิทธิทางการเมืองของกรรมการบริหารพรรคการเมืองและการสิ้นสุดสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มิใช่โทษทางอาญาสามารถกระทำได้ เช่นเดียวกับกรณีตามคำร้องในคดีนี้นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นกรณีเกี่ยวกับพรรคการเมืองกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมือง เป็นเหตุให้ถูกยุบพรรคและเป็นผลให้กรรมการบริหารพรรคการเมืองถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองและเป็นกรณีลักษณะต้องห้ามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นเหตุให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลง และทั้งสองกรณีดังกล่าวมีบทบัญญัติของกฎหมายที่เขียนไว้โดยชัดเจนว่าให้มีผลย้อนหลังได้ เพราะเป็นการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายหรือขาดคุณสมบัติมาตั้งแต่แรก

แต่บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ใช้บังคับ มิได้บัญญัติกรณีการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีตามระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้มีผลย้อนหลังได้ คำวินิจฉัยทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นคนละกรณีกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ ซึ่งเป็นกรณีเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด อันเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ซึ่งมีหลักการและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่ต่างกัน จึงไม่อาจนำมาเทียบเคียงกันได้

ส่วนข้ออ้างของผู้ร้องที่ว่าบันทึกการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ครั้งที่ 500 วันศุกร์ที่ 7 กันยายน 2561 ระบุเจตนารมณ์การจำกัดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ ไว้อย่างชัดเจน ประกอบกับการประชุมดังกล่าวประธานกรธ.และรองประธานกรธ.คนที่ 1 ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ใช้บังคับว่า บุคคลใดก็ตามที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยวิธีการใดก็ตาม ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้บังคับ ก็สามารถนับรวมระยะเวลาดังกล่าวกับระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 ได้

ซึ่งเมื่อนับรวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องมีระยะเวลาไม่เกิน 8 ปีนั้น เห็นว่า การประชุมดังกล่าวเป็นการประชุมเพื่อพิจารณาความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งเป็นเพียงการอธิบายแนวความคิดของกรธ.และการจัดทำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในมาตราต่างๆว่ามีความมุ่งหมายอย่างไร เป็นการพิจารณาภายหลังรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้บังคับเป็นเวลาถึง 1 ปี 5 เดือน ประกอบกับความเห็นของประธานกรธ.และรองประธานกรธ.คนที่ 1 ที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง มิได้นำไประบุไว้เป็นความมุ่งหมายหรือคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 นอกจากนี้ ตามบันทึกการประชุมและรายงานการประชุมของกรธ.ที่พิจารณาเกี่ยวกับการกำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีตาม มาตรา 158 วรรคสี่ ไม่ปรากฎประเด็นในการพิจารณาหรืออภิปรายเกี่ยวกับการนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีว่าสามารถนับรวมระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้บังคับด้วย การกำหนดเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ จึงมีความหมายเฉพาะการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560

ดังนั้น เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้บังคับในวันที่ 6 เมษายน 2560 และผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ ตามบทเฉพาะกาล มาตรา 264 การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องจึงเป็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีภายใต้รัฐธรรมนูญนี้ จึงอยู่ภายใต้บังคับมาตรา 158 วรรคสี่ ทั้งนี้ การให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จะต้องถือเอาวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้เป็นวันเริ่มต้นเข้ารับตำแหน่ง

ด้วยเหตุนี้ ผู้ถูกร้องจึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญ 2560 นับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 ถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ผู้ถูกร้องจึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ยังไม่ครบกำหนดเวลาตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีผู้ถูกร้อง จึงไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ศาลรัฐธรรมนูญโดยมติเสียงข้างมาก จึงวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่”

หลังการมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีวาระ 8 ปีของนายกรัฐมนตรี นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แสดงความเคารพต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และขอขอบคุณประชาชนทุกคน สำหรับกำลังใจและความปรารถนาดีที่มอบให้

ตลอดระยะเวลาหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ถือเป็นโอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้พิจารณาและตระหนักมากขึ้นว่าจะต้องใช้เวลาอันมีค่าที่มีอยู่อย่างจำกัดของรัฐบาล ติดตามและผลักดันโครงการสำคัญต่างๆ ที่ได้ริเริ่มเอาไว้ให้เดินหน้าและเสร็จสมบูรณ์ สร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับบ้านเมืองและสร้างอนาคตให้กับลูกหลาน โดยจะใช้ความพยายามและใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ มุ่งมั่นในภารกิจการพลิกโฉมประเทศ ตามกลยุทธ์ 3 แกน ที่ได้เคยกล่าวไว้ให้สำเร็จเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศให้เสร็จสมบูรณ์ เพื่อพลิกโฉมประเทศไทย ไปสู่ยุคทองแห่งความเจริญรุ่งเรืองในวันข้างหน้า

…………………………

คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”

อ่านเพิ่มเติม :
พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ กรณีวาระ 8 ปี