ที่เป็นการให้ความรู้ผ่านทางวิทยุ รายการจิตวิทยาเพื่อคุณ ทางคลื่นวิทยุจุฬาฯ FM 101.5 MHz โดยได้ระบุไว้ว่า… กรณีนี้อาจ มีที่มาจากลักษณะความผูกพันกับคนอื่น ที่เป็น “รูปแบบความผูกพันที่ติดตัวมาตั้งแต่ยังอยู่ในช่วงวัยทารก” ซึ่งมีอิทธิพลกับแต่ละคนแตกต่างกันไป โดยมีการแบ่งลักษณะความผูกพันนี้ไว้เป็น 3 แบบคือ… แบบมั่นคง, แบบหลีกเลี่ยง, แบบวิตกขัดแย้ง…

รักสมหวังหรือผิดหวังความรัก

แต่ละแบบก็จะ “แสดงออกต่างกัน”

นอกจากข้อมูลส่วนที่ได้สะท้อนต่อไปแล้ว ทาง ผศ.ดร.วัชราภรณ์ อาจารย์คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังได้ชวนตั้งคำถามไว้อีกว่า… เมื่อคนเราถูกปฏิเสธจากคนรัก เมื่อผิดหวังจากความรัก “ต้องระวังคนที่มีลักษณะใดมากที่สุด??” โดยทางอาจารย์ท่านเดิมก็ได้ให้ความรู้ไว้ว่า… คนเรานั้น เมื่อผิดหวังก็เป็นธรรมดาที่จะรู้สึกเสียใจ หรือโกรธ ตามธรรมชาติ แต่เมื่อพูดถึง “อารมณ์โกรธที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์” ที่อาจจะ “นำไปสู่การลงมือทำร้ายคนที่รัก” ได้นั้น กรณีนี้ในทางจิตวิทยาพบว่า… คนที่มีลักษณะความผูกพันติดตัวมาตั้งแต่วัยทารกที่แตกต่างกัน ก็จะมีวิธีแสดงออกที่ต่างกันไป…

ทั้งนี้ เริ่มจาก “ความผูกพันแบบมั่นคง” คนกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะ ไม่โกรธอะไรง่าย ๆ ถึงแม้จะถูกอีกฝ่ายหนึ่งยั่วโมโหก็ตาม ขณะที่ “ความผูกพันแบบหลีกเลี่ยง” คนกลุ่มนี้จะ แสดงความโกรธได้ง่าย ที่สำคัญมักจะไม่ค่อยรู้สึกถึงความโกรธที่ตัวเองแสดงออกมา ส่วนอีกแบบคือ “ความผูกพันแบบวิตกขัดแย้ง” คนกลุ่มนี้ จะรู้สึกโกรธเมื่อคนรักแสดงท่าทีห่างเหิน ไม่สนใจ ไม่ให้ความสำคัญ แต่ด้วยความที่กลัวถูกทอดทิ้งมาก คนกลุ่มนี้จึงมักเก็บกดความโกรธเอาไว้ในใจ…

นี่เป็น “การแสดงออก” กรณี “โกรธ”

และทางอาจารย์ท่านเดิมยังได้ขยายความไว้ต่อไปว่า… จากลักษณะของความผูกพันในแต่ละแบบที่คนแต่ละกลุ่มจะแสดงออกมานั้น ก็สะท้อนว่า… “แบบที่น่ากังวลมากที่สุด” คือ “ความผูกพันแบบวิตกขัดแย้ง” ที่จะ “มีภาวะอารมณ์และความคิดที่ซับซ้อนมาก” เนื่องจากเมื่อโกรธคนรัก ก็อาจจะไม่แสดงออกมาในตอนที่คนรักหงุดหงิด เนื่องจากกลัวจะถูกคนรักทอดทิ้ง ซึ่งคนที่มีลักษณะของความผูกพันแบบวิตกขัดแย้งนี้…การถูกทิ้งคือการสูญเสียที่ใหญ่หลวง อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ “มีแนวโน้มความเสี่ยงสูงที่จะลงมือทำร้ายคนรัก” นั้น ก็ไม่ได้มีกลุ่มเดียว แต่จะเป็นคนที่เติบโตมาในความผูกพัน 2 แบบ…

แบบหลีกเลี่ยง และแบบวิตกขัดแย้ง

เมื่อโกรธผิดหวัง มีแนวโน้มทำร้าย!!

ทาง ผศ.ดร.วัชราภรณ์ ให้ความรู้ไว้อีกว่า… คนที่มีความผูกพันแบบมั่นคง จะปรับตัวได้ดีที่สุดเมื่อเผชิญความเสียใจหรือการถูกทอดทิ้งจากคนรัก เมื่อเทียบกับอีก 2 แบบ และการวิจัยยังพบว่า… คนที่มีความผูกพันแบบมั่นคงจะเผชิญความผิดหวังอย่างตรงไปตรงมา ไม่หลอกตัวเองทำให้จัดการและปรับตัวตามความจริงได้ดีกว่า ขณะที่ คนที่มีความผูกพันแบบหลีกเลี่ยง จะไม่ยอมรับว่าเสียใจ และพยายามเพิกเฉยต่อความเศร้า-ความผิดหวัง ส่วน คนที่ “มีความผูกพันแบบวิตกขัดแย้ง” จะหมกมุ่นกับความเศร้าเสียใจ และมักขยายความทุกข์ให้ใหญ่มากขึ้น ดังนั้น ก็ทำให้คนกลุ่มหลังนี้…

เป็น “กลุ่มที่ต้องระวังมากที่สุด!!”

ทั้งนี้ นอกจาก “ลักษณะความผูกพันที่ต่างกัน” แล้ว อาจารย์ท่านเดิมยังชี้ไว้ว่า… “การให้ความรักมากเกินพอดี” นั้น บางที ก็สามารถ “เป็นปัจจัยทำให้ลงมือทำร้ายคนที่รัก” ได้เช่นกัน ซึ่งสำหรับ “ความรักที่ล้นเกินไป” นั้น ถือว่าเป็นการปกป้องเกินเหตุ จนไม่เปิดโอกาสให้คน ๆ นั้นได้เผชิญปัญหา หรือฝึกแก้ปัญหาด้วยตัวเอง ซึ่งเรื่องนี้ก็มักพบได้ตั้งแต่วัยเด็ก จากการที่พ่อแม่ปกป้องลูกเกินไป ทำให้ลูกไม่มีโอกาสเผชิญปัญหายาก ๆ จน ไม่ได้เรียนรู้การจัดการกับความผิดหวัง และอารมณ์ทางลบต่าง ๆ จึงขาดทักษะการปรับตัวและการจัดการกับปัญหา ซึ่ง ถ้ามีนิสัยหุนหันพลันแล่นก็ยิ่งน่ากังวล!!

ส่วน “คำแนะนำเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดคนร้ายเรื่องความรัก” นั้น ทาง ผศ.ดร.วัชราภรณ์ บุญญศิริวัฒน์ ก็ได้ให้แนวทางไว้ว่า… ต้องเริ่มบ่มเพาะตั้งแต่วัยทารก-วัยเด็ก ด้วยการเปิดโอกาสต่าง ๆ ให้กับลูก เช่น… ได้เผชิญความยากลำบาก, ได้ใช้ความพยายามในการไขว่คว้าสิ่งที่ต้องการ, ได้เรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาร่วมกับผู้อื่น รวมไปถึงได้รู้สึกเจ็บปวดเพื่อเรียนรู้วิธีที่จะหลีกเลี่ยงในครั้งต่อไป โดย พ่อแม่ก็ต้องทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงที่คอยแนะวิธีการที่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่ว่าปล่อยให้ลูกลองผิดลองถูกเองเกินไป และที่สำคัญคือ พ่อแม่ต้องรับฟังความเจ็บปวดของลูกอย่างเห็นอกเห็นใจ ด้วย…

“ผู้ชายมีแนวโน้มก้าวร้าวและทำร้ายตนเองหรือผู้อื่นได้มากกว่าผู้หญิง เพราะมักเสียใจจากการอกหักมากกว่า อีกทั้งเมื่อเทียบกับผู้หญิแล้ว ผู้ชายมีนิสัยไม่ชอบระบายความพ่ายแพ้ให้ผู้อื่นฟัง จึงมีแนวโน้มเกิดปัญหามากกว่าเมื่อผิดหวังจากความรัก ดังนั้น การ ฝึกให้ลูกเรียนรู้ความผิดหวังตั้งแต่เด็ก เพื่อให้เรียนรู้การจัดการความสัมพันธ์ในความสัมพันธ์กับเพศตรงข้าม น่าจะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดเหตุร้าย ได้” …เป็นอีกส่วนจากคำแนะนำ ลดปัญหา “รักร้ายทำลายชีวิต”

ที่หลัง ๆ ในไทยยิ่ง “เกิดถี่-เกิดบ่อย!!”

และดูจะ “โหดเหี้ยมอำมหิตมากขึ้น!!”.

คลิกอ่านตอนที่ 1 ได้ที่นี่