โดยหลังจากแนวคิดนี้ถูกจุดพลุออกมาก็เรียกเสียงฮือฮาไม่น้อย ซึ่ง “สกิลการขายของออนไลน์” ของอินฟลูเอนเซอร์จีนนั้นแน่นอนว่าทั่วโลกรู้ซึ้งฝีมือเป็นอย่างดี…

ทั้งนี้ การที่ “ไทยจะใช้อินฟลูเอนเซอร์จีน” ซึ่งเป็นแนวคิดที่ทางกระทรวงพาณิชย์ได้ออกมาเปิดเผยไว้เมื่อเร็ว ๆ นี้นั้น หลักใหญ่ใจความคือหวังที่จะ “ใช้สกิลไลฟ์สดขายของ” ของอินฟลูเอนเซอร์จีนมาเสริมกับไทย เพื่อผลักดันสินค้าไทยออกสู่ตลาดโลกให้ได้มากขึ้น ซึ่งอินฟลูเอนเซอร์จีนที่ได้รับการทาบทามจะเลือกสินค้าไทยนำไปโปรโมตผ่านแพลตฟอร์มตนเอง โดยสินค้าที่จะนำไปไลฟ์ มีอาทิ อาหาร เครื่องดื่ม ขนม อัญมณี เครื่องประดับ สินค้าแฟชั่น เป็นต้น โดยจะคัดเลือกสินค้าจากเอสเอ็มอีไทยกว่า 250 บริษัท ที่มีสินค้าคุณภาพและมีศักยภาพ นำมาเป็นตัวเลือกให้อินฟลูเอนเซอร์นำไปไลฟ์สดโปรโมต…

โปรโมต “ตามสไตล์-ตามความถนัด”

โดยหวังว่า “จีนโปรโมตไทย” นี่จะช่วย

กระตุ้นตลาด “ดันยอดขายสินค้าไทย”

อย่างไรก็ตาม กับแนวคิดที่ไทยจะทำการตลาดให้สินค้าไทยผ่านโซเชียลมีเดีย ด้วยการใช้อินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังทั้งคนจีน-คนไทย ให้ “ไลฟ์สดโปรโมตสินค้าไทย” นั้น แม้จะเรียกเสียงฮือฮา เกิดกระแสตื่นตัวในแวดวงเอสเอ็มอีไทยไม่น้อย แต่ในแง่ “การดำเนินการ-ผลลัพธ์” นั้น กรณีนี้ก็ “ยังมีคำถาม??” เช่นกัน ซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ทาง “ทีมสกู๊ปเดลินิวส์” ได้ขอทรรศนะต่อแนวคิดนี้จากนักวิชาการด้านการสื่อสารการตลาด คือ ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล ผู้อำนวยการหลักสูตร aMBA (Analyst MBA) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งได้มีการวิเคราะห์ถึงเรื่องนี้ และได้สะท้อนเกี่ยวกับแนวคิดดังกล่าว โดยสังเขปมีดังนี้…

ดร.ภูษิต ผอ.หลักสูตร aMBA ได้สะท้อนมาว่า… แนวคิดที่จะดึงอินฟลูเอนเซอร์ชาวจีนและชาวไทยให้มาช่วยในการโปรโมตขายสินค้าให้กับประเทศไทยนั้น นับเป็นแนวคิดที่น่าสนใจ เพราะการทำการตลาดรูปแบบนี้ถือเป็นเครื่องมือที่นิยมมาก ๆ สำหรับการตลาดสมัยใหม่ อีกทั้งในปัจจุบันผู้บริโภคได้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจากเดิมไปมาก คือจากที่เคยซื้อสินค้าผ่านช่องทาง Offline ก็เปลี่ยนมาเป็นการซื้อผ่านช่องทาง Online มากขึ้นเรื่อย ๆ และด้วยปัจจัยด้านพฤติกรรมนี้เอง ที่ได้ส่งผลต่อกลยุทธ์การตลาด ทำให้ผู้ประกอบการ หรือแบรนด์ต่าง ๆ จึงหันมา ทำการตลาดผ่านทางออนไลน์ เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ…

“อินฟลูเอนเซอร์” นี่ก็ “กลไกสำคัญ”

ที่ทำให้กลุ่มเป้าหมายสนใจซื้อสินค้า

ทาง ดร.ภูษิต ยังได้ระบุถึง “ประเภทอินฟลูเอนเซอร์” ว่า… แบ่งตาม “จำนวนผู้ติดตาม” จะแบ่งได้ดังนี้คือ… 1.นาโนอินฟลูเอนเซอร์ (Nano Influencer) ที่มีจำนวนผู้ติดตาม 1,000-10,000 คน 2.ไมโครอินฟลูเอนเซอร์ (Micro Influencer) มีจำนวนผู้ติดตาม 10,000-100,000 คน 3.แมคโครอินฟลูเอนเซอร์ (Macro Influencers) มีจำนวนผู้ติดตาม 100,000-1,000,000 คน และ 4.เมกะอินฟลูเอนเซอร์ (Mega Influencer) มีจำนวนผู้ติดตามเกิน 1,000,000 คนขึ้นไป

แล้วควรใช้อินฟลูเอนเซอร์แบบใด?…ทาง ดร.ภูษิต ระบุว่า… นักการตลาดจะนิยมใช้ “นาโนอินฟลูเอนเซอร์” มากที่สุด เนื่องจากค่าจ้างถูก สามารถจ้างได้จำนวนมากกว่า เมื่อเทียบกับอินฟลูเอนเซอร์ประเภทอื่น ๆ ยกตัวอย่างเช่น งบจ้างเมกะอินฟลูเอนเซอร์ 1 คน สามารถจ้างนาโนอินฟลูเอนเซอร์ได้กว่า 1,000 คน ซึ่งในแง่ “ความกว้าง” จากจำนวนที่มากกว่านี้เองที่จะทำให้โปรโมตได้มาก คือเมื่อมีจำนวนการโปรโมตที่กว้าง ก็ทำให้สินค้ามีโอกาสถูกเห็นได้เยอะขึ้นนั่นเอง อย่างไรก็ตาม การตลาดสมัยใหม่ก็จะไม่นิยมเลือกแค่แนวทางใดแนวทางหนึ่ง แต่จะทำ การตลาดผสมผสาน หรือ Hybrid Marketing

“คงต้องดูให้ดีว่าจะเลือกแบบไหนที่เหมาะกับไทยที่สุด ซึ่งการดึงอินฟลูเอนเซอร์มาโปรโมตสินค้าไทย เป็นเรื่องที่ดีและมาถูกทางแล้ว แต่ที่ต้องทำคู่กันด้วยคือ ช่องทางสั่งซื้อก็ต้องพร้อมรองรับ เพราะแม้คนสนใจมาก กระแสตอบรับดี มีคนอยากซื้อ แต่ถ้าช่องทางการขายไม่พร้อม ก็ไม่มีประโยชน์” …เป็นคำแนะนำที่ “น่าคิด”

และนอกจากช่องทางซื้อขายแล้ว… “จำนวนสินค้า” นั้น ก็สำคัญเช่นกัน โดยทาง ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล ชี้ว่า… สินค้าที่จะเลือกมาโปรโมตต้องมีจำนวนเพียงพอ ต้องสามารถผลิตได้ทันความต้องการ เพราะถ้าผลิตไม่ทันก็เสียโอกาส รวมถึง อีกสิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ “คุณภาพสินค้า” ไม่ใช่ว่าผลิตทัน แต่คุณภาพไม่ดี ก็จะให้ผลลัพธ์ที่แย่ ในขณะที่ อีกปัจจัยที่ต้องคิดให้เยอะด้วยคือ…ระวัง “การเลือกสินค้า” ที่ต้องแจกแจงให้ชัดเจนเพราะ อาจเกิดปัญหาเนื่องจากมีผู้ที่ได้โอกาสและเสียโอกาส ซึ่งส่วนตัวแนะนำว่า ควรเลือกสินค้าที่จะใช้เป็นเรือธงเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงมาดูที่เรื่องอื่น ๆ

“สินค้าที่เลือกมาโปรโมตควรเป็นสินค้าที่ทำให้ได้รับผลเชิงบวกในไลน์ผลิตภาพรวม ไม่ใช่ได้ประโยชน์แค่คนใดคนหนึ่ง ซึ่งส่วนตัวสนับสนุนแนวคิดนี้ เป็นแนวทางที่ดีเลย แต่ที่อยากย้ำคือ ต้องชัดเจน ต้องมองให้ครบถ้วนรอบด้าน รวมถึงต้องคิดด้วยว่า…จะทำยังไงไม่ให้สินค้าไทยถูกก๊อบปี้” …ดร.ภูษิต ทิ้งท้าย…กับ “ประเด็นที่ต้องคิด”

ใช้ “อินฟลูเอนเซอร์เชียร์สินค้าไทย”

โดยเฉพาะ “ใช้อินฟลูเอนเซอร์จีน”

ก็… “รอดู…เอาเข้าจริงจะยังไง??”.