สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองเพิร์ท ประเทศออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 30 ม.ค. ว่า บริษัทริโอ ทินโต หนึ่งในผู้ประกอบการเหมืองแร่รายใหญ่ที่สุดของโลก เผยแพร่แถลงการณ์ของ นายไซมอน ทรอตต์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน ( ซีเอฟโอ ) ขออภัยเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ บริษัทคู่สัญญาของริโอ ทินโต ทำแคปซูลขนาด 8 มิลลิเมตร x 6 มิลลิเมตร ที่ภายในบรรจุซีเซียม-137 ( caesium-137 ) ซึ่งเป็นไอโซโทปกัมมันตรังสีของธาตุซีเซียม “สูญหายอย่างไร้ร่องรอย” ระหว่างการขนส่ง


ทั้งนี้ ริโอ ทินโต ยืนยันว่า ได้รับแจ้งเรื่องการสูญหาย เมื่อวันที่ 25 ม.ค. ที่ผ่านมา หรือ 2 สัปดาห์เต็ม หลังแคปซูลเม็ดดังกล่าวหายระหว่างลำเลียง จากเหมืองในเมืองนิวแมน เพื่อไปจัดเก็บยังโกดังในเมืองเพิร์ท โดยระยะทางระหว่างเมืองทั้งสองแห่งห่างกันมากกว่า 1,400 กิโลเมตร ซึ่งยาวกว่าสหราชอาณาจักรทั้งประเทศ


ซีเอฟโอของริโอ ทินโต ทิ้งท้ายว่า บริษัทขออภัยอย่างสูงสุดต่อความบกพร่องที่เกิดขึ้น ซึ่งสร้างความปั่นป่วนอย่างหนัก ให้กับประชาชนในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ซึ่งในหลายเขตยังคงอยู่ภายใต้คำสั่งเฝ้าระวัง และเตือนภัยด้านกัมมันตรังสี โดยสำนักงานดับเพลิงและบริการฉุกเฉินแห่งรัฐ ที่เตือนว่า ไอโซโทปดังกล่าวแม้ไม่ใช่สารประกอบของการผลิตอาวุธ แต่มีอันตรายในระดับสูง เนื่องจากอาจก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยร้านแรงถึงขั้นเป็นมะเร็ง หากสัมผัสโดยตรง


ขณะที่บรรดาผู้สันทัดกรณีให้ความเห็นไปในทางเดียวกันว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น “พบได้อย่างมาก” และไม่ได้สะท้อนถึง “มาตรฐานที่ลดลง” ของริโอ ทินโต อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ครั้งนี้มีผลไม่น้อยต่อ “ภาพลักษณ์” ของบริษัท

ย้อนกลับไปเมื่อเดือน พ.ค. 2563 ริโอ ทินโต ระเบิดถ้ำของชาวอะบอริจิน ที่มีอายุเก่าแก่เกือบ 50,000 ปี ในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย เพื่อขยายอาณาเขตเหมืองแร่เหล็ก ภายในบริเวณซึ่งได้รับสัมปทานจากรัฐ ส่งผลให้ นายฌ็อง-เซบาสเตียน ฌาคส์ ลาออกจากตำแหน่งประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร ( ซีอีโอ ) ของริโอ ทินโต เพื่อแสดงความรับผิดชอบ.

เครดิตภาพ : REUTERS