การประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ​  (United Nations General Assembly -​ UNGA)​  วาระพิเศษเร่งด่วน​ ครั้งที่ 11​ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม​ 2565  ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ​ (United​ Nations -​ UN)​ ในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่ประชุมฯ มีมติยืนยันถึงอำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนภายในพรมแดนยูเครน และตำหนิการรุกรานยูเครนของรัสเซีย​ อย่างรุนแรงที่สุด โดยเรียกร้องให้รัสเซีย​ หยุดใช้กำลังและถอนกองกำลังออกจากยูเครนในทันที และยังมีมติตำหนิเบลารุสด้วย​ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้กำลังในยูเครน​ ด้วยคะแนนเสียงจากประเทศที่เป็นสมาชิกสหประชาชาติ เห็นด้วย ​141 เสียง ไม่เห็นด้วย 5 เสียง และงดออกเสียง 35 เสียง​ 5​ ​ชาติที่ไม่รับรองมตินี้ ได้แก่ รัสเซีย เบลารุส เกาหลีเหนือ ซีเรีย และเอริเทรีย 35 ชาติที่งดออกเสียง​ อาทิ​ จีน​ เวียดนาม ลาว อินเดีย​ อิรัก​ อิหร่าน​ มองโกเลีย​ ปากีสถาน​ ศรีลังกา​ คิวบา​ แอฟริกาใต้​ ฯลฯ

หลังการลงมติ นายสุริยา จินดาวงษ์ เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก แถลงต่อที่ประชุมว่า​ “ประเทศไทยได้พิจารณาร่างมติอย่างรอบคอบ และลงมติสนับสนุนมติ เพราะปัจจัยที่สำคัญมากสุดที่ไทยยึดถือ และเป็นแนวทางที่ต้องปกป้องไว้ในกฎบัตรสหประชาชาติ คือ กฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเคารพต่ออธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน และการไม่ใช้ความรุนแรงต่อรัฐอื่น… การสนับสนุนของเราต่อมติ เน้นย้ำถึงความเป็นกังวลสูงสุดต่อชะตากรรมที่กระทบต่อพลเมือง และผลกระทบด้านมนุษยธรรมของความมุ่งร้าย และการใช้ความรุนแรงในพื้นที่ ด้วยเหตุนี้ เราขอร้องให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามพันธสัญญาภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชน อย่างถึงที่สุด… เรายังกังวลถึงผลกระทบระยะยาวที่จะเกิดขึ้น ต่อการยึดกฎกติการะหว่างประเทศเป็นพื้นฐาน เรียกร้องให้กลับมาพิจารณาเรื่องสันติภาพ ให้ทุกภาคส่วนยกระดับการเจรจาผ่านทุกช่องทาง และตระหนักถึงปัจจัยที่จะนำไปสู่สันติภาพท่ามกลางสถานการณ์นี้”

สำหรับในประเทศไทย​ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2565​ นายเยฟกินี โทมิคิน เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย เปิดแถลงข่าวที่ สถานเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทยเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศยูเครน ตลอดจนประเด็นความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างประเทศไทยและรัสเซีย​ มีใจความว่า “… เราขอบคุณที่รัฐบาลไทย​ มีจุดยืนที่สมดุล เราหารือกับกระทรวงการต่างประเทศของไทยอย่างเปิดเผย​ ตรงไปตรงมา เราดีใจที่ฝั่งไทยพร้อมฟังในสิ่งที่เราพูด แม้ว่าจะมีแรงกดดันสูงมากจากรัฐบาลชาติตะวันตก ประเทศไทยเป็นหุ้นส่วนที่เชื่อถือได้มายาวนาน เราไม่เคยขัดแย้งทางการเมืองต่อกัน… ความเคลื่อนไหวของรัสเซียคือปฏิบัติการพิเศษทางทหาร โดยเปรียบเทียบกับการที่สหรัฐส่งกองทัพเข้าไปยังอัฟกานิสถาน ตั้งแต่ปี 2544 การที่กองทัพสหรัฐเข้าไปในอัฟกานิสถาน​ เรียกว่าสงครามหรืออะไร ผมจำไม่ได้ว่า สหรัฐประกาศสงครามต่ออัฟกานิสถาน เป้าประสงค์ของเราคือการทำลายโครงสร้างพื้นฐานทางทหารของยูเครน เราต้องการเห็นยูเครนแบบที่เป็นมิตร มีสันติ ไม่ใช่ตัวสปริงบอร์ดให้นาโต ดังนั้นผมไม่คิดว่านี่คือสงคราม เราไม่มีทางเลือกอื่นจริงๆ หลังจากกองทัพยูเครนโจมตีภูมิภาคดอนบาส ซึ่งมีชาวรัสเซียอยู่ 8 แสนคน รัสเซียพยายามยุติสงครามที่ยูเครนเริ่มต้นเมื่อ 8 ปีก่อน”

และเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2565 นายโอเลกซันดร์ ลีซัก อุปทูตยูเครนประจำประเทศไทย แถลงข่าวมีใจความว่า​ “…ขณะนี้ไม่มีอาสาสมัครชายไทยอยู่ในยูเครน​ หรือร่วมรบในฐานะทหารในยูเครน…..  ขอขอบคุณรัฐบาลไทยและคนไทยที่ให้การสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมแก่ยูเครนด้วย​ คนไทยบริจาคเงินกว่า 7 ล้านบาท มายังบัญชีเฉพาะกิจของสถานทูตยูเครนแล้ว โดยเงินจำนวนนี้จะส่งไปให้ธนาคารกลางยูเครน​ เพื่อสนับสนุนความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม​ และขณะนี้ได้โอนไปแล้วมากกว่า 5 ล้านบาท

สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (Foreign Correspondents’ Club of Thailand​ -​ FCCT) ได้จัดการเสวนา ในหัวข้อ “การรุกรานยูเครนของรัสเซียมีความหมายอะไรต่อประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้?” (What does Russia’s invasion of Ukraine mean for Thailand and Southeast Asia)

เมื่อวันที่ 14 มีนาคม​ 2565​ ผ่านโปรแกรม Zoom​ วิทยากรที่เข้าร่วมการเสวนา ประกอบด้วย นายกันตธีร์ ศุภมงคล อดีต รมว.การต่างประเทศ​ นายฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายกษิต ภิรมย์ อดีต รมว.การต่างประเทศ และนายไนเจล กูล เดวีส์ นักวิชาการจากสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการศึกษาเชิงกลยุทธ์ (IISS) สถาบันวิจัยในประเทศอังกฤษ และอดีตเอกอัคราชทูตอังกฤษประจำประเทศเบลารุส โดยมีนายโจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวบีบีซีอังกฤษประจำประเทศไทย​ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา

ช่วงหนึ่งในการเสวนาของ​ นายกษิต​ ภิรมย์ อดีต รมว.การต่างประเทศ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยในหลายประเทศ อาทิ รัสเซีย​ อินโดนีเซีย เยอรมนี​ ญี่ปุ่น​ สหรัฐอเมริกา ได้อภิปรายสะท้อนทรรศนะที่มีประสบการณ์ด้านการต่างประเทศ​ ภายใต้มุมมองอย่างรอบด้านและแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา​ ซึ่งเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ และสาเหตุของสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่ชาติตะวันตก​ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา​ ผลักดันให้นายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย และประเทศรัสเซียเข้าสู่มุมอับ​ โดยติดอาวุธให้ยูเครนมากขึ้นเรื่อยๆ ตนเองเคยเป็นเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงมอสโก มาเป็นเวลา 3 ปี และรู้ว่ารัสเซีย​ ได้รับความทุกข์ยากอย่างไรในประวัติศาสตร์​ ขณะที่นายกษิตกำลังอภิปรายอยู่นั้น​ มีผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่เป็นชาวตะวันตกบางคนไม่พอใจที่นายกษิตแสดงความเห็นใจรัสเซีย มีการพูดสอดแทรกเป็นระยะๆ​ เป็นการทำลายบรรยากาศของการเสวนาอย่างไม่มีมารยาท นายกษิตจึงกล่าวขึ้นว่า​ ให้ผมกล่าวให้เสร็จก่อน แต่ถ้าไม่พอใจก็ไปชกกันข้างนอกได้​ (We can have a fight outside.) และกล่าวเตือนนักข่าวต่างประเทศว่า​ กรุณาใช้ความสุภาพด้วย​ นายโจนาธาน เฮด ผู้ดำเนินการเสวนา ได้กล่าวห้ามปรามว่า นักข่าวต่างประเทศมีเวลาถาม และแสดงความเห็นหลังจากที่นายกษิตและวิทยากรพูดเสร็จแล้ว​ บรรยากาศการเสวนาที่ไม่ราบรื่นจึงคลี่คลายลง

อย่างไรก็ตามสถานการ​ณ์โลกที่มีการเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐอเมริกา​กับรัสเซียนั้น​ ทั้งสองประเทศต่างเป็นมิตรประเทศของไทยที่มีสัมพันธไมตรีมายาวนาน​ ประเทศไทยจึงต้องรักษาจุดยืนของประเทศด้วยความรอบคอบอย่างรอบด้าน​ เป็นกลาง​ในการแสวงหาทางออกด้วยสันติวิธี

อ่านเพิ่มเติม :

นาฬิกาวันสิ้นโลก เหลือเพียง 1.40 นาทีก่อนเที่ยงคืน

จากสงครามเย็นที่ไม่มีการสู้รบ สู่สงครามร้อนที่สู้รบกัน

…………………………………..
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”
อ่านเพิ่มเติมที่.. แฟนเพจ :
สาระจากพระธรรม