เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565  สำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เผยแพร่พระคติธรรม จ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เนื่องในวันมาฆบูชา 16 กุมภาพันธ์ 2565 ความว่า ดีถีมาฆบูชา อันเป็นวันจาตุรงคสันนิบาต ได้เวียนมาบรรจบอีกคำรบหนึ่งแล้ว ดิถีเช่นนี้เมื่อกว่าสองพ้นห้าร้อยปีก่อน สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ประทานหลักการอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาไว้ 3 ประการ ได้แก่ การไม่กระทำบาปทั้งปวง การทำกุศลให้ถึงพร้อม และการทำจิตให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว

“จิต” เป็นสภาพรู้ที่ปรากฏมีอยู่ในทุกชีวิต ซึ่งมีสภาพธรรมอีกประเภทหนึ่งเรียกว่า “เจตสิก” เกิดร่วมด้วย เจตสิกกลุ่มที่เรียกว่า “สังขาร” อาจปรุงแต่งให้จิตเป็นไปในทางสามฝ่าย กล่าวคือ ฝ่ายดี ฝ่ายเลว และฝ่ายที่เป็นกลาง การจะทำจิตให้ผ่องแผ้วได้ตามหลักการอันเป็นหัวใจของพระศาสนา จำเป็นต้องเริ่มขัดเกลาตนเองให้มีปกติอดทนอดกลั้นที่จะไม่ทำบาป พอใจขวนขวายที่จะทำบุญ คือการบำเพ็ญทาน รักษาศีล และเจริญภาวนาอยู่เสมอ เพื่อฝึกจิตให้โน้มน้าวไปสู่วิถีสะอาด คอยชำระซักฟอกไปจนกว่าธุลีแห่งความมัวหมองจะลบเลือนหายไป ทำให้เข้าถึงสภาวะอันผ่องแผ้วด้วยจิตฝ่ายดี มีกุศลจิตเป็นเนืองนิตย์

การฝึกจิตอยู่เสมอจะเป็นเหตุปัจจัยนำมาซึ่งความหลุดพ้นจากห้วงทุกข์ ถึงแม้ยังดำเนินไปไม่ถึงที่สุดในฝ่ายคดีธรรม แต่ก็ย่อมยังอำนวยประโยชน์สุขในฝ่ายคดีโลก คือทำให้ผู้ฝึกจิตเป็นสุจริตชน มีการงานสะอาดปราศจากโทษ มีใจสงบระงับ ไม่ต้องกลัวโทษทัณฑ์จากกฎหมายบ้านเมือง ทั้งยังเป็นเครื่องประคับประคองจิตให้ไม่เดือดร้อนต่อโลกธรรม ไม่แสดงอาการขึ้นลง

เมื่อประสบกับการมีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ สรรเสริญ นินทา สุข และทุกข์ รวมความได้ว่าจิตที่ผ่องแผ้ว ต้องเกิดจากการฝึก เมื่อฝึกแล้วจิตก็จะมั่นคงไม่หวั่นไหว สมตามพระพุทธานุศาสนีที่ว่า “จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหา” ความว่า “จิตที่ฝึกดีแล้ว นำสุขมาให้” ด้วยประการฉะนี้

ขอพระสัทธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จงดำรงมั่นอยู่ในโลกนี้ตลอดกาลนาน และขอพุทธบริษัททั้งหลายจงพร้อมเพรียงกันศึกษาพระสัทธรรมนั้น เพื่อบรรลุถึงความงอกงามไพบูลย์ยิ่งๆ ขึ้นสืบไป เทอญ

เพื่อให้ชาวพุทธได้ตระหนักรู้และตื่นรู้ถึงคุณค่าและความสำคัญในการเป็นผู้นับถือพระพุทธศาสนาที่ประกอบด้วยปัญญา โดยมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง จะได้นำพาชีวิตให้มีความเป็นปรกติสุขตามอัตภาพของแต่ละบุคคล​ มีการสะสมปัญญาทีละเล็กทีละน้อย​ตามลำดับขั้น เป็นเหตุนำไปสู่การมีความเห็นถูก (สัมมาทิฏฐิ)  ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงต่อชีวิตทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

​วันมาฆบูชา เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ประทานคติธรรมแก่ชาวพุทธให้รู้ธรรมะที่มีจริง​ (สัจธรรม)​ ซึ่งมีความละเอียดลึกซึ้งยิ่ง  ยากที่จะเข้าใจได้ หากไม่มีการศึกษาพระธรรมคำสอนที่ตรงตามพระพุทธพจน์ในพระไตรปิฎก  พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาของผู้มีปัญญา อุบัติขึ้นจากการตรัสรู้ของพระบรมศาสดา พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยพระองค์เองด้วยพระปัญญาคุณและพระบริสุทธิคุณ​ ซึ่งทรงบำเพ็ญพระบารมีมาเป็นเวลา 4 อสงไขยแสนกัป พระองค์ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณซึ่งเป็นความจริงอันถึงที่สุด (อริยสัจธรรม) ​ เมื่อ 45 ปีก่อนพุทธศักราช หลังจากนั้นตลอดระยะเวลา 45 พรรษา​ ทรงมีพระมหากรุณาคุณเผยแผ่พระธรรมคำสอนแก่สัตว์โลกให้พ้นทุกข์จากการเวียนว่ายตายเกิด (สังสารวัฏ)

ขอน้อมนำความบางตอนในคติธรรมที่ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้ประทานไว้ในวันมาฆบูชา​ เพื่อให้ชาวพุทธได้พิจารณาไตร่ตรองเป็นปัญญาของตนเอง ดังนี้

“จิต” เป็นสภาพรู้ที่ปรากฏมีอยู่ในทุกชีวิต ซึ่งมีสภาพธรรมอีกประเภทหนึ่งเรียกว่า “เจตสิก” เกิดร่วมด้วย เจตสิกกลุ่มที่เรียกว่า “สังขาร” อาจปรุงแต่งให้จิตเป็นไปในทางสามฝ่าย กล่าวคือ ฝ่ายดี ฝ่ายเลว และฝ่ายที่เป็นกลาง การจะทำจิตให้ผ่องแผ้วได้ตามหลักการอันเป็นหัวใจของพระศาสนา จำเป็นต้องเริ่มขัดเกลาตนเองให้มีปกติอดทนอดกลั้นที่จะไม่ทำบาป พอใจขวนขวายที่จะทำบุญ คือการบำเพ็ญทาน รักษาศีล และเจริญภาวนาอยู่เสมอ เพื่อฝึกจิตให้โน้มน้าวไปสู่วิถีสะอาด คอยชำระซักฟอกไปจนกว่าธุลีแห่งความมัวหมองจะลบเลือนหายไป ทำให้เข้าถึงสภาวะอันผ่องแผ้วด้วยจิตฝ่ายดี มีกุศลจิตเป็นเนืองนิตย์

ความหมายของ  “จิต” หมายถึง สภาพรู้​ซึ่งเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ในสิ่งปรากฏทางปัญจทวาร​ คือ​ ทางตา​ ทางหู​ ทางจมูก​ ทางลิ้น​ ทางกาย​ และมโนทวาร​ คือ​ ทางใจ​  “จิต” เป็นนามธรรมหรือนามธาตุหรือนามขันธ์  ไม่มีรูปร่างสัณฐาน เกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็วตามเหตุปัจจัย​

“จิต” มี 89 ดวง (ประเภท) หรือ 121 ดวง จิต 89 ดวง ได้แก่ กามาวจรจิต 54  ดวง​ รูปาวจรจิต 15 ดวง​ อรูปาวจรจิต 12 ดวง​ โลกุตตรจิต 8 ดวง  จิต 121 ดวง ได้แก่ กามาวจรจิต 54 ดวง​ รูปาวจรจิต 15 ดวง​ อรูปาวจรจิต 12 ดวง​ โลกุตตรจิต 40 ดวง

โสภณจิต (จิตที่ดีงาม) เป็นจิตที่มีเจตสิกประกอบร่วมด้วย เกิดกับจิต 3 ชาติ ได้แก่ กุศลชาติ วิบากชาติ กิริยาชาติ

อกุศลจิต (จิตที่ไม่ดี)​ เป็นจิตที่มีเจตสิกประกอบร่วมด้วย มี 14 ดวง ได้แก่​ โมจตุกเจตสิก 4 ดวง คือ โมหะ อหิริกะ อโนตัปปะ อุทธัจจะ​ โลติกเจตสิก 3 ดวง คือ โลภะ​ มานะ ทิฏฐิ โทจตุกเจตสิก 4 ดวง คือ โทสะ​ อิสสา มัจฉริยะ กุกกุจจะ ถีนทุกเจตสิก 2 ดวง คือ ถีนะ มิทธะ​ และวิจิกิจฉาเจตสิก อีก 1 ดวง

ความหมายของ​ “เจตสิก” หมายถึง สภาพรู้ที่เกิดกับจิต​ รู้สิ่งเดียวกับจิต เป็นนามธรรมหรือนามธาตุหรือนามขันธ์​ ไม่มีรูปร่างสัณฐาณ ทำหน้าที่ปรุงแต่งจิต เกิดพร้อมจิต ดับพร้อมจิต เกิดดับสืบต่ออย่างรวดเร็วตามเหตุปัจจัย​

เจตสิกมี 52 ดวง (ประเภท) จำแนกเป็น 3 พวกใหญ่ๆ ได้แก่

พวกที่​ 1 อัญญสมานาเจตสิก 13 ดวง เป็นเจตสิกที่เสมอกันกับจิตอื่น คือ​ เกิดกับจิตชาติใดก็เป็นชาตินั้น เกิดได้กับจิตทั้ง 4 ชาติ​ ได้แก่​ กุศลชาติ​ อกุศลชาติ​ วิบากชาติ​ กิริยาชาติ

พวกที่​ 2​  อกุศลเจตสิก 14 ดวง เป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกับอกุศลจิตเท่านั้น แต่ก็ยังแยกประเภท เช่น โลภเจตสิกเกิดได้กับโลภมูลจิต โทสเจตสิกเกิดได้กับโทสมูลจิต โมหเจตสิกเกิดได้กับอกุศลจิตทุกดวง

พวกที่​ 3 โสภณเจตสิก 25 ดวง เป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกับโสภณจิต ซึ่งโสภณจิตแต่ละดวงมีเจตสิก​เท่ากันบ้าง ไม่เท่ากันบ้าง แล้วแต่การประกอบของเจตสิก

โสภณเจตสิก 25 ดวง ได้แก่ โสภณสาธารณเจตสิก 19 ดวง วิรตีเจตสิก 3 ดวง ได้แก่​ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ อัปปมัญญาเจตสิก 2 ดวง ได้แก่​ กรุณา มุทิตา และปัญญาเจตสิก อีก​ 1 ดวง

ความหมายของ​ “สังขาร” ในปฎิจจสมุปบาทซึ่งเป็นธรรมะที่มีองค์ธรรมอาศัยกันและกันเกิดขึ้น​เป็นไป​ มีทั้งธรรมะฝ่ายเกิดและธรรมะฝ่ายดับ​ ธรรมะฝ่ายเกิดเป็นมิจฉาปฏิปทา ธรรมะฝ่ายดับเป็นสัมมาปฏิปทา

สังขาร 3 ได้แก่ ปุญญาภิสังขาร​ ซึ่งเป็นเจตนาเจตสิกที่เกิดกับกามาวจรกุศลจิตและรูปาวจรกุศลจิต อปุญญาภิสังขาร ซึ่งเป็นเจตนาเจตสิกที่เกิดกับอกุศลจิต อเนญชาภิสังขาร​ ซึ่งเป็นเจตนาเจตสิกที่เกิดกับอรูปณานกุศลจิต

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงจำแนกสภาวธรรมเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ  คือ โลกียธรรม ประเภทหนึ่ง เป็นสภาพธรรมที่เกิดดับ มีสามัญลักษณะ 3 ประการ ได้แก่ ไม่เที่ยง (อนิจจัง) เป็นทุกข์ (ทุกขัง) ไม่ใช่ตัวตน บังคับบัญชาไม่ได้ (อนัตตา) ซึ่งเป็นสังขารธรรม​ สังขตธรรม  

โลกุตรธรรม อีกประเภทหนึ่ง เป็นสภาพธรรมที่ไม่เกิดดับ เป็นสภาพธรรมเหนือโลกหรือสภาพธรรมที่พ้นจากโลก คือ พระนิพพาน​ ซึ่งเป็นวิสังขารธรรม​ อสังขตธรรม

ปรมัตถธรรม คือ สภาพธรรมตามความเป็นจริง เป็นอภิธรรมซึ่งเป็นสภาวธรรมอันยิ่งใหญ่​ ละเอียด​ ลึกซึ้ง สุขุม​ เป็นสภาพธรรมที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย ปรมัตถธรรม​ 4 ได้แก่ จิต เจตสิก รูป นิพพาน ในที่นี้ขออธิบายความหมายของ “รูป” เพิ่มเติม “รูป” หมายถึง​ สภาพที่ไม่รู้ แต่ถูกรู้ เกิดดับตามเหตุปัจจัย เป็นรูปธรรมหรือรูปธาตุหรือรูปขันธ์ เป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นทางตา เป็นสิ่งที่ปรากฏให้ได้ยินทางหู  เป็นสิ่งที่ปรากฏให้ได้กลิ่นทางจมูก เป็นสิ่งที่ปรากฏให้ลิ้มรสทางลิ้น เป็นสิ่งที่ปรากฏให้รู้กระทบสัมผัสทางกาย

ชาวพุทธคงจะคุ้นหูกับคำสวดที่ว่า​ กุศลาธรรมา​ อกุศลาธรรมา​ อพยากตาธรรมา​ เวลาไปงานศพ​ซึ่งมีการสวดพระอภิธรรม​ กุศลาธรรมา​ หมายถึง​ ธรรมะที่เป็นกุศล​ อกุศลาธรรมา​ หมายถึง​ ธรรมะที่เป็นอกุศล​ อพยากตาธรรมา​ หมายถึง​ ธรรมะที่ไม่เป็นกุศล​ ธรรมะที่ไม่เป็นอกุศล​ เป็นธรรมะที่เป็นกลาง

อ่านเพิ่มเติม :

ชีวิตกับธรรมะที่มีจริง (สัจธรรม)
ชีวิตกับธรรมะที่มีจริง(สัจธรรม) ตอน 2
ชีวิตกับธรรมะที่มีจริง(สัจธรรม) ตอน 3

…………………………………..
คอลัมน์ : ว่ายทวนน้ำ
โดย “ทวีศักดิ์ อุ่นจิตติกุล”
อ่านเพิ่มเติมที่.. แฟนเพจ :
สาระจากพระธรรม